"วิษณุ"ยันนายกฯถวายสัตย์ตามวิธีปฏิบัติเหมือนอดีต แจงคำวินิจฉัยศาลรธน.ชี้ชัดเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาล-พระมหากษัตริย์

ข่าวการเมือง Wednesday September 18, 2019 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวชี้แจงในการอภิปรายว่า ประเด็นหลักในวันนี้ที่มีการอภิปรายกันเป็นเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ ในวันที่ 16 ก.ค.62 หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 36 คนและก็จำเป็นต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่บัญญัติไว้ว่า ต้องมีการถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ โดยกระทำต่อหน้าพระพักตร์ ข้าราชการราชสำนักชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สื่อข่าวทีวี

นายวิษณุ ชี้แจงอีกว่าว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนด้วยการหยิบบัตรแข็งออกมาจากกระเป๋าเสื้อ เป็นเช่นเดียวกับที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดเตรียมให้นายกรัฐมนตรีทุกคนในอดีต ไม่มีการสลับสับเปลี่ยน ซึ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีกล่าวแต่ละท่อน คณะรัฐมนตรีทุกคนก็จะกล่าวตามไปทีละท่อนจนจบ

แต่ยืนยันว่าไม่ทราบสาเหตุที่มีการอ่านไปเพียงเท่านั้นเป็นเพราะเหตุใด แต่หากจะขยายความคือการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ และ เจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่ามาตรา 161 มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการยืนยันต่อองค์ผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำปฏิญาณนั้น สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ใช้คำว่า "ดังนั้นการถวายสัตย์ปฏิญาณจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์"

"การล้วงหยิบเอาบัตรแข็งออกมาจากมากระเป๋า เป็นวิธีปฏิบัติเดียวเหมือนกับนายกฯทุกคนในอดีต ไม่ได้หยิบ เปลี่ยน สลับ หรือวาง แต่หยิบบัตรแข็ง ซึ่งสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้จัดเตรียม เช่นเดียวกับเตรียมนายกฯทุกคนในอดีต ผมเขียนในหนังสือหลังม่านการเมืองที่ทุกคนอ้างถึง โดยอ้างว่ามีนายกฯคนเดียวที่ล้วงกระเป๋านั้น มีคนเดียวที่ไม่ได้ล้วงคือ นายชวน หลีกภัย เพราะท่านจำแม่น คนอื่นต่อให้แม่นก็กลัวพลาด จึงล้วงหยิบจากกระเป๋าเสื้อทั้งนั้น หยิบหน้าแรกก็อ่านคำเบิกตัว คนอื่นไม่ต้องอ่านตาม หน้าสองคือ คำถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อนายกฯกล่าวไปแต่ละท่อน ครม.จะกล่าวตาม ทุกคนกล่าวตามทีละท่อน จนกระทั่งจบที่นายกฯกล่าว"นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การที่พูดคุยกันวันนี้เป็นประเด็นเรื่องการ "ถวายสัตย์ปฏิญาณ" ซึ่งต่างไปจากการ "ปฏิญาณตน" โดยการปฏิญาณตน ส.ส., ส.ว. หรือผู้สำเร็จราชการต้องทำในที่ประชุมสภา แต่การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นการกระทำต่อหน้าพระมหากษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีผู้ถวายสัตย์และมีผู้รับการถวายสัตย์คือ พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำโดยบุคคล 4 ประเภทเท่านั้นคือ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษา และตุลาการ

นายวิษณุ กล่าวว่า กระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณเมื่อวันที่ 16 ก.ค.เป็นไปโดยเปิดเผย ไม่ได้เป็นความลับและในเวลาต่อมาก็มีการพระราชทานพระราชดำรัสเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า "ขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจแก่ท่าน ให้ท่านมีความมั่นใจมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ และขอให้เข้าทำหน้าที่ รับหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความว่ารัฐบาลได้เข้าทำหน้าที่แล้ว เหมือนกับทุกรัฐบาลที่เข้าปฏิบัติหน้าที่และบริหารราชการแผ่นดิน

จากนั้น นายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วง ย้ำคำถามในญัตติถึงสาเหตุว่าทำไมจึงกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ โดยนายวิษณุก็ชี้แจงว่าจะไม่เกิดข้อกังวลและปัญหาใดๆ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญระบุเหตุผลที่ไม่รับคำร้องโดยชี้ว่าเป็นเรื่องในทางการเมือง และอ้างอิงว่าคณะรัฐมนตรีได้รับพระราชทานราชหัตถ์ ศาลรัฐธรรมนูญจึงบอกว่ากรณีนี้ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

ส่วนปัญหาเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม นายวิษณุ กล่าวว่า หากมีการละเมิดก็เป็นเรื่องที่ตรวจสอบกันได้ สามารถส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ โดย ป.ป.ช.จะไปร้องต่อศาลฎีกา หากชี้มูลว่าละเมิดต่อมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งรัฐบาลเองก็ไม่ได้หนักใจเรื่องนี้ และทุกอย่างก็สามารถดำเนินการไปตามปกติได้ รัฐบาลก็จะก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานตามที่ถวายสัตย์ปฏิญาณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ