พรรคร่วมฝ่ายค้าน เชื่อ กอ.รมน.แจ้งความคดีอาญา ม.116 เพราะหวังปิดปากนักการเมือง-เบี่ยงเบนประเด็น

ข่าวการเมือง Friday October 4, 2019 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยถึงกรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ได้รับมอบอำนาจจากแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน. ให้แจ้งความดำเนินคดีกับนักการเมืองและนักวิชาการรวม 12 คน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ว่า การแจ้งความดังกล่าวไม่ได้ดูไปถึงองค์ประกอบ 3 ประการ ที่ถูกระบุในกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งผู้พูดไม่ได้มีการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญ หรือก่อความไม่สงบในบ้านเมือง ผู้พูดในงานเสวนาเพียงแสดงความเห็น เป็นการใช้สิทธิทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ขาดเจตนาหรือเหตุจูงใจ 3 ประการขององค์ประกอบในกฎหมายดังกล่าว

ดังนั้น การใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาเอาผิด โดยรวบทั้งหัวหน้าพรรคการเมืองและนักวิชาการ จึงถือเป็นการกระทำที่มุ่งหวังทางการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แม้จะมีการนำคลิปกล่าวอ้างไปถึงนักวิชาการท่านหนึ่ง แต่เมื่อดูแล้วก็เป็นเพียงความเห็นทางวิชาการ ไม่ได้มีเจตนายุยง ปลุกปั่นแต่อย่างใด

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีความเห็นชัดเจนว่าจะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 1-2 อย่างเด็ดขาด แต่เมื่อถูกแจ้งความเอาผิดแล้ว ก็มีข้อต่อสู้ไปตามแนวทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มาแจ้งความเอาผิดนั้น มองว่าเพียงเพื่อจะหวังปิดปากนักการเมือง หวังเบี่ยงเบนประเด็น หรือหวังผลทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ด้านการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นการแจ้งความหว่านแห แสดงให้เห็นว่าคนแจ้งยังไม่เข้าใจชัดเจนด้วยซ้ำว่าข้อเท็จจริงจะเข้าความผิดมาตรานี้ และปล่อยให้เป็นดุลยพินิจเจ้าพนักงาน เหมือนกับการแจ้งความที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศอยู่ในระบอบการปกครองของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสุดท้ายนำไปสู่การไม่ฟ้องของอัยการ และการยกฟ้องของศาล เนื่องจากไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

"คิดว่าการกระทำเช่นนี้อาจไม่ใช่การหวังผลทางกฎหมาย แต่อาจจะทำเพื่อหวังผลให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมากกว่า ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิทธิที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ถ้าใครวิจารณ์แล้วผิดกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบตามนั้น อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังสามารถทำได้ตามหมวด 15 เว้นแต่สิ่งที่พูดแล้วน่าจะทำไม่ได้คือมาตรา 255 ในรัฐธรรมนูญคือเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เช่น การปกครองท้องถิ่นที่มีเอกภาพของตัวเองมากขึ้นอย่าง กรุงเทพมหานคร หรือเมืองพัทยา เป็นสิ่งที่สามารถทำได้และหยิบยกขึ้นมาพูดได้"

นายชัยเกษม กล่าวว่า ในฐานะที่ท่านเป็นฝ่ายกฎหมายของทหาร ควรกลั่นกรองให้ดีก่อนที่จะฟ้องใคร ไม่ใช่ให้เจ้าพนักงานเขาไปดูเอง ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำสำหรับนักกฎหมายที่จะกล่าวหาคนอื่นในลักษณะนี้

"ผมเองอ่านเนื้อหาที่แจ้งความแล้วยังไม่รู้ว่าตรงไหนที่จะเข้าข่าย ปั่นป่วน กระด้างกระเดื่อง ก่อความไม่สงบ หรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ดังนั้นผู้แจ้งความควรตัดตอนออกมาให้ชัดเจนว่าคำกล่าวท่อนไหนที่ผิด ไม่ใช่กล่าวหาลอยๆ กว้าง ๆ แล้วให้เจ้าพนักงานไปทำเอาเอง รู้แต่ข้อหา แต่ไม่รู้ว่าผิดตรงไหนอย่างไร เหมือนโยนเข็มลงมหาสมุทร แล้วให้พนักงานไปหาเอง ไปทำงานเอง" นายชัยเกษม กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า คดีความทางอาญาหากว่ากันตามปกติ จะต้องเริ่มต้นที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเสียก่อน แต่กับกรณีนี้มีการใช้ กอ.รมน. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีไปแจ้งความ ก็เหมือนกับนายกฯ ได้สั่งการให้มีการไปแจ้งความหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ