"ธนาธร"แนะใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าดันไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง-รับการเมืองจบไม่สวยแต่ภูมิใจ

ข่าวการเมือง Thursday November 21, 2019 18:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เฟซบุ๊คของพรรคอนาคตใหม่ เผยแพร่คำกล่าวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในงานเสวนาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 10 ในหัวข้อ "ผู้นำทางการเมืองกับอนาคตประเทศไทย"ว่า ประเด็นที่กำลังท้าทายประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ คือเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาประชาธิปไตย

ในส่วนของเศรษฐกิจ ย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้วระดับการพัฒนาประเทศจากตัวเลขรายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita) ของไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกงไม่ต่างกันมาก และก่อนหน้านี้ประชาคมโลกตั้งความคาดหมายว่าไทยจะเป็นประเทศที่ยกระดับจากประเทศรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาได้ แต่ทุกวันนี้หลายประเทศไปไกลแล้ว และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม เริ่มไต่มาอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศไทยที่ยังติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

"เมื่อเราไปดูตัวชี้วัดของกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง มีการตีเป็นตัวเลขรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ส่วนประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 7,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ถ้าอาศัยตัวเลขการเติบโตของ GDP อยู่ที่ปีละ 3% โดยเฉลี่ยแบบที่เราทำมา เราต้องใช้เวลาอีก 20 ปีจึงจะพัฒนาไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ แต่ทั้งนี้ภายใต้ปัจจัยที่ว่าประเทศรายได้สูงไม่มีการขยับของตัวเลขดังกล่าวเลย"นายธนาธร กล่าว

ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญของประเทศรายได้ปานกลาง คือจะสร้างมูลค่าได้อย่างไร จะทำให้เติบโตไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้อย่างไร จากประสบการณ์บริหารธุรกิจมา มีหลักการสำคัญคือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้และมีกระบวนการที่ทำให้สินค้ามีมูลค่าที่มากขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยี วันนี้หากประเทศไทยพึ่งพาแต่อุตสาหกรรมเดิมก็จะไปไกลกว่านี้ไม่ได้ การใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 70% มาถึงเดือน ก.ค.ลดลงมาที่ 65.8% ตัวเลขนี้น่ากังวลเพราะกำลังสะท้อนว่าการลงทุนภาคเอกชนจะไม่เกิดขึ้นถ้ากำลังการผลิตเหลือ

ส่วนเศรษฐกิจภาคเกษตรยังคงอาศัยการตากข้าวบนถนน ซึ่งเป็นการใช้แรงงานที่ไม่ทำให้เกิดมูลค่า หลายประเทศทั่วโลกหันไปใช้เครื่องอบข้าวกันหมดแล้ว หรืออย่างผลไม้ก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจทานและคัดกรองคุณภาพทำให้มีมูลค่าในตลาดที่สูง ขณะที่ประเทศไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรแบบปฐมภูมิอยู่

"ถ้าเรามีการเพิ่มมูลค่าสินค้าอยู่ในการลงทุนในเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ผมนึกไม่ออกเลยว่าถ้าเราอยู่ในแนวคิดที่ถูกต้อง ทำไมเราจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ผมคิดว่าโจทย์ที่สำคัญวันนี้ คือเราจะแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีอย่างไรให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มมูลค่า และที่สำคัญคือพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมกันด้วย"นายธนาธร กล่าว

อย่างไรก็ตาม การสร้างมูลค่าด้วยเทคโนโลยีอย่างที่ตนว่ามาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่แก้ปัญหาทางการเมือง ประเทศมีรัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า 20 ฉบับ เปลี่ยนกฎหมายสูงสุดเฉลี่ย 4 ปีต่อครั้ง แนวโน้มยังจะเกิดขึ้นอีก หากการเมืองยังคงเป็นแบบนี้ คือทุนใหญ่จะกำหนดทิศทางของประเทศไทยมากขึ้น อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะสูงกว่าอำนาจจากประชาชนมากขึ้น เราจะพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติโดยไร้เทคโนโลยีของตัวเองมากขึ้น จะมีการกดทับกีดกันเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์มากขึ้น

"เราต้องการผู้นำที่กล้าพูดความจริง นั่นคือความจริงที่ว่ากลุ่มชนชั้นนำได้ประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำ ดำรงอยู่ในอำนาจทางการเมือง และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่ค้ำยันอำนาจอยู่คือกองทัพ กลุ่มทุนใหญ่ ระบบราชการที่ใหญ่เทอะทะ และกระบวนการยุติธรรม"

ในฐานะคณะกรรมาธิการงบประมาณปี 63 ยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีทรัพยากรเพียงพอที่จะพัฒนาประเทศ สร้างรัฐสวัสดิการ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีได้ แต่โครงสร้างเหล่านี้คือสิ่งที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศไทยไว้ ทำให้ต้องกลับมาสู่คำถามว่าอำนาจในประเทศนี้เป็นของใครกันแน่ ระหว่างประชาชนหรือกลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกทำให้ไม่มีความหมาย สามอำนาจของประเทศอันประกอบด้วยอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างน้อยที่สุดสามกลไกนี้ควรต้องถ่วงดุลอำนาจกัน ทุกๆ อำนาจไม่ว่าจะตัดสินใจถูกหรือผิด ต้องถูกตรวจสอบจากประชาชน จากสภา จากองค์กรตุลาการได้

แต่ในโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เรามีองค์กรอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่เหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นี่คือดุลอำนาจที่ไม่เท่ากัน ที่เกิดจากความไม่ไว้ใจประชาชน เกรงว่าจะออกกฎหมายที่เป็นโทษต่ออภิสิทธิชน การดำรงอยู่ของ ส.ว.ทำให้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกได้เป็นนายกรัฐมนตรี กดดันเสียงของพรรคการเมือง ส่วนในขาตุลาการก็ล้วนเป็นคนที่ คสช. แต่งตั้งหรือยืดอายุให้ การตรวจสอบการคอร์รัปชั่น ปัญหาคือวันนี้คือมีการหลีกเลี่ยงให้ข้อยกเว้นที่จะไม่ตรวจสอบอำนาจบางอำนาจ

"นักการเมืองด่าได้ตรวจสอบง่าย คนที่ตรวจสอบไม่ได้แล้วคุณไม่กล้าบังคับใช้มาตรฐานเดียวกัน คุณจะบอกได้อย่างไรว่าคุณสู้กับคอร์รัปชั่นจริงๆ คนที่ตั้งตาตรวจสอบแต่นักการเมืองแต่ไม่ตรวจสอบคนพวกนี้ล้วนแต่เฟคทั้งหมด" ธนาธรกล่าว

ดังนั้น ถ้าจะเดินหน้าต่อ ขอเสนอว่าเราต้องยึดหลักให้มั่น ประเทศไทยต้องไปในแนวทางสาม D คือ Democratization - การทำให้เป็นประชาธิปไตย, Demilitarization - การลดอำนาจของกองทัพ, และ Decentralization - การกระจายอำนาจกลับไปที่ท้องถิ่น

"ขอย้ำประเด็นที่ว่าสุดท้าย อำนาจของประชาชนตอนนี้กำลังถูกปิดกั้น ยกตัวอย่าง ถ้าคุณเป็นชาวบ้านที่นครสวรรค์ สะพานที่บ้านขาด อยากจะให้ซ่อมสะพาน ไปบอก อบต. อบจ.ก็ไม่มีงบไม่มีอำนาจ ไปบอก ส.ส. ก็ไปแปรงบประมาณให้ไม่ได้เพราะผิดรัฐธรรมนูญ"

นายธนาธร ตั้งคำถามว่าประชาชนมีสิทธิเลือกผู้แทนไปใช้สิทธิในระบบกี่ครั้ง เราได้เลือก ส.ส. เป็นตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติในระดับชาติ เลือกตัวแทนในระดับองค์กรปกครองท้องถิ่นได้สองครั้งเท่านั้น แต่คนที่ประชาชนเลือกมาไม่มีอำนาจทำให้ความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้นเลย คนให้คุณให้โทษอยู่ที่ส่วนกลาง นี่คือปัญหาใจกลางของการเมืองไทยจริงๆ คือประชาชนไม่มีอำนาจ

"มาถึงตรงนี้ผมต้องบอกว่าต่อให้การที่ผมพูดความจริงแบบนี้แล้วจะทำให้ต้องไปจบชีวิตในคุกตาราง ผมอาจจะมีจุดจบไม่สวย แต่ผมก็ภูมิใจที่ได้พูดสิ่งนี้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง ผมก็ภูมิใจที่ได้ยืนหยัดต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง สุดท้ายผมอาจจะจบไม่สวย แต่ผมจะไม่เลียบูทหารแน่ๆ" นายธนาธร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ