(เพิ่มเติม) เลขาสภาฯ แนะส่งเรื่องศาล รธน.วินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบฯ หลังพบเสียบบัตรลงมติแทนกันจริง

ข่าวการเมือง Tuesday January 21, 2020 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เปิดภายผลการตรวจสอบคณะกรรมการกฏหมาย กรณีนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจ มีชื่อลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แต่เจ้าตัวไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรว่า ช่วงเช้าที่ผ่านได้ประชุมร่วมกับทีมกฏหมาย เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาตามที่นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ออกมาให้สัมภาษณ์ โดยพบว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริง โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่จากสำนักชวเลขมาตรวจสอบ ซึ่งพบว่าในมาตรา 31-55 และข้อสังเกตมีชื่อนายฉลองร่วมลงมติจริง

พร้มกันนั้น ยังได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาบัตรลงคะแนนในห้องประชุมมาให้ข้อมูล ปรากฏว่าบัตรนายฉลองเบิกไปใช้จริงและลงมติในวันที่ 8-11 ม.ค.โดยไม่ได้มีการส่งบัตรคืนเจ้าหน้าที่ และพบว่าบัตรเสียบค้างไว้ที่เครื่องลงคะแนนในวันที่ 11 ม.ค. และ ยังได้เรียกฝ่ายเทคนิคมาช่วยตรวจสอบช่องเสียบบัตรลงคะแนน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเสียบบัตรในตำแหน่งใด อีกทั้งกล้องของฝ่ายเทคนิคไม่ได้จับภาพบุคคล

ทั้งนี้ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่าข้อกล่าวหาเป็นจริง ทำให้ผลการลงมติตั้งแต่มาตรา 31-55 และข้อสังเกต ไม่ชอบด้วยกฏหมาย ดังนั้น กระบวนการที่จะทำให้ถูกต้อง คือ ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 139 ที่ให้สมาชิกของรัฐสภา ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 75 คน เสนอประธานสภาฯให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฏหมายที่ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่

"ข้อสังเกตของคณะกรรมการเห็นว่ากรณีนี้ไม่ทำให้ร่างกฏหมายต้องตกไป เพราะเป็นเพียงแค่เสียงเดียว แต่คณะกรรมการก็เคารพการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องตามกระบวนการ ทั้งนี้ ได้แจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทราบแล้ว เรื่องนี้ต้องนำไปหารือในที่ประชุมสภาฯในวันพรุ่งนี้ เพื่อดูว่าที่ประชุมสภาจะเห็นเป็นอย่างไร อาจเห็นไม่ตรงกับทีมกฏหมายก็ได้" เลขาธิการสภาฯ กล่าว

ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมารประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า ที่ประชุมมีมติให้พรรคร่วมฝ่ายค้านติดตามเรื่องปัญหาการกดบัตรแทนกัน เพราะเรื่องนี้จะกระทบต่อมาตรฐานจริยธรรมของ ส.ส.และยังจะมีผลทำให้กฎหมายหลายฉบับมีอันจะต้องถูกตีความว่าโมฆะหรือไม่ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

นอกจากนี้ หากสถานภาพของ 4 ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ถูกขับสิ้นสุดแล้ว แต่มีการไปกดบัตรก็จะกลายเป็นเหตุให้ถูกตีความด้วย อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานติดตามการทำหน้าที่ของประธานสภาฯ ด้วย เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ต้องตีความ และหาข้อสรุป เพราะในมุมมองของนักกฎหมาย เมื่อเทียบเคียงกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นโมฆะเนื่องจากมีการเสียบบัตรแทนกรณีนี้ก็ไม่น่าต่างกัน ซึ่งทางออกนั้น อาจจะให้พิจารณาวาระ 3 ใหม่ หรือลงมติใหม่ ซึ่งอยู่ที่ประธานสภา โดยรัฐบาลควรทำเรื่องนี้ให้สิ้นสุดก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ