ป.ป.ช.แจงดัชนีรับรู้ทุจริต 62 ไทยได้คะแนนเท่าเดิม ชี้แนวทางรอดทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหา

ข่าวการเมือง Friday January 24, 2020 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ป.ป.ช.แจงดัชนีรับรู้ทุจริต 62 ไทยได้คะแนนเท่าเดิม ชี้แนวทางรอดทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ปัญหา

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2562 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยได้ 36 คะแนนเป็นอันดับที่ 101 และอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน แม้ว่าค่าคะแนนดัชนีจะเท่ากับคะแนนในปี 2561 แต่อันดับเพิ่มขึ้น 2 อันดับ

โฆษก ป.ป.ช. ระบุว่า จากแหล่งข้อมูล 9 แหล่ง ไทยได้คะแนนสูงขึ้น 3 แหล่ง คะแนนเท่าเดิม 4 แหล่ง คะแนนลดลง 2 แหล่ง สำหรับแหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนสูงกว่าปี 2561 มี 3 แหล่ง คือ

1. แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ปี 2562 ได้ 45 คะแนน, ปี 2561 ได้ 41 คะแนน (เพิ่มขึ้น 4 คะแนน)

IMD สำรวจข้อมูลประมาณเดือน ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย 4 ด้าน คือ ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยสอบถามความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทยว่า "มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่" ด้วยคะแนน 45 และเพิ่มขึ้นถึง 4 คะแนน น่าจะเกิดจากการรับรู้ถึงความจริงจังของภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตที่มีมากขึ้น

2. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ปี 2562 ได้ 38 คะแนน ปี 2561 ได้ 37 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน)

PERC สำรวจข้อมูลประมาณเดือน ม.ค.ถึงต้นเดือน มี.ค.2562 จากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศ โดยให้ประเมินระดับปัญหาการทุจริต ในประเทศหรือในธุรกิจ คะแนนการรับรู้ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนยังคงเห็นว่าปัญหาการทุจริตในประเทศไทย ยังเป็นความเสี่ยงสูงต่อการประกอบธุรกิจ

3. แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ปี 2562 ได้ 43 คะแนน ปี 2561 ได้ 42 คะแนน (เพิ่มขึ้น 1 คะแนน)

WEF สำรวจประมาณเดือน ม.ค.-มิ.ย.ของทุกปี ในมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุด ในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ การคอร์รัปชัน ความไม่มั่นคง ของรัฐบาล/ปฏิวัติ ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โดยถามเกี่ยวกับการจ่ายสินบน เช่น การนำสินค้าเข้าหรือส่งออก การทำสัญญาและออกใบอนุญาต และการจ่ายโอนเงินงบประมาณของรัฐไปสู่นิติบุคคล กลุ่มบุคคลหรือบุคคลคะแนนการรับรู้ดังกล่าว สะท้อนถึงอุปสรรคการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยลดน้อยลง ซึ่งอาจจะสืบเนื่องจาก การประกาศให้พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ และกำหนดให้ต้องเปิดเผยข้อมูล

ด้านแหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนเท่ากับปี 2561 มี 4 แหล่งข้อมูล คือ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF - TI) ได้ 37 คะแนน, Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน, Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน และ PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน PRS คะแนนเท่าเดิม ซึ่งทั้ง 4 แหล่งข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการให้สินบน การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ และความโปร่งใสที่เป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ยังมีสถานการณ์ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

ส่วนแหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนลดลงจากปีก่อน มี 2 แหล่งข้อมูล คือ World Justice Project (WJP) ปี 2562 ได้ 38 คะแนน, ปี 2561 ได้ 40 คะแนน(ลดลง 2 คะแนน)

WJP รวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย.2562 ประเมินค่าความโปร่งใส โดยใช้ 8 หลักเกณฑ์ เน้นเรื่องหลักนิติธรรม แต่ปีที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) นำเกณฑ์ด้านการปราศจากคอร์รัปชันและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากการใช้ทรัพย์สินของราชการของข้าราชการสายบริหาร ตุลาการ ตำรวจ ทหาร และสภานิติบัญญัติคะแนน 38 ที่ลดลง เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มตัวอย่างภาคประชาชนมองว่า กลุ่มข้าราชการยังคงใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน และมีแนวโน้มว่าจะใช้ทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตนมากขึ้น

แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ปี 2562 ได้ 20 คะแนน, ปี 2561 ได้ 21 คะแนน

โดย V-DEM วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ด้วยคำถามที่ว่า การทุจริตทางการเมืองเป็นที่แพร่หลายมากน้อยเพียงใด (How pervasive is political corruption?) ใน 4 กลุ่ม คือ ภาครัฐ ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ คะแนน 20 คะแนนและลดลงไปอีกจากปี 2561 เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญมองว่าแม้เพิ่งผ่านการเลือกตั้งใหม่แล้ว แต่สภาพพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการเรียกรับผลประโยชน์หรือสินบน หรือการเบียดบังเงินงบประมาณ ทรัพยากรภาครัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องยังคงมีอยู่

โฆษก ป.ป.ช. กล่าวว่า จากผลคะแนนการรับรู้การทุจริต เป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญที่ภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และพลเมืองไทยทั้งประเทศ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เนื่องจากการทุจริตนับเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ ดังนั้น เพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามสภาวะความยากจน และความไม่เท่าเทียมกันอย่างมีประสิทธิผล คือ การที่ทุกภาคส่วนจะต้องแสดงความจริงใจ และปรับฐานความคิดในการไม่เพิกเฉยกับการทุจริตในทุกระดับ

ดังนั้น ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต โดยรัฐบาลต้องมีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการให้สินบนทุกรูปแบบและมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตทุกรูปแบบ โดยร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อสร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ "ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ