วิป 3 ฝ่ายยังไร้ข้อสรุปวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านระบุบีบชนกรอบปิดสมัยประชุม

ข่าวการเมือง Wednesday February 5, 2020 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร นัดหารือ 3 ฝ่ายคือ ตัวแทนรัฐบาล, คณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล และวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อพิจารณากรอบเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการอภิปรายในวันที่ 25-27 ก.พ.63 และลงมติวันที่ 28 ก.พ.63 แต่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย

โดยรัฐบาลมอบหมายให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายดิสทัตโหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมหารือ ขณะที่วิปรัฐบาลมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิป นายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ นายอนุชา นาคาศัย รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมประชุม ส่วนฝ่ายค้านนำโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านฯ

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวภายหลังการหารือราว 20 นาทีว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องวันอภิปรายฯ จึงต้องนัดหารือกันอีกครั้ง โดยอาจเพิ่มเวลาอภิปรายอีก 1 วัน จากเดิมวันที่ 25-27 ก.พ.63 เป็นเริ่มอภิปรายวันที่ 24 ก.พ.63 แต่หากอภิปรายเสร็จภายใน 3 วันได้ก็จะดีเพราะสัดส่วนเวลาเหมาะสมแล้ว คาดว่าบ่ายนี้คงจะได้ข้อสรุป

ส่วนข้อเสนอของฝ่ายค้านให้เปลี่ยนมาเริ่มอภิปรายวันที่ 19 ก.พ.63 นั้น คงทำไม่ได้ เพราะช่วงระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ.63 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายติดภารกิจ เช่น นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ

ด้านประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายในช่วงวันที่ 25-27 ก.พ.63 เพราะบีบมากเกินไป จึงเสนอให้มีการอภิปรายในช่วงวันที่ 18-20 ก.พ.63 หรือช่วงวันที่ 19-21 ก.พ.63 หรือเริ่มอภิปราย 24-27 ก.พ.63 เพื่อให้สามารถขยายเวลาได้หากยังไม่จบในเนื้อหา ส่วนเนื้อหาในญัตติอภิปรายที่ฝ่ายรัฐบาลระบุว่ามีความรุนแรงเกินไปนั้นจะมีการแก้ไขในถ้อยคำบางช่วงที่รัฐบาลติดใจ

ส่วนการลงมติหากผลต่างกันออกมาไม่ถึง 25 คะแนน ฝ่ายค้านจะขอนับคะแนนลงมติใหม่หรือไม่นั้น นายสมพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ประธานสภาฯ จะพิจารณา และนายกรัฐมนตรีจะต้องไปพิจารณาตัวเองหากคะแนนต่างกันไม่ถึง 5 คะแนน

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวว่า ไม่สามารถแก้เนื้อหาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ซึ่งนายชวนแจ้งว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะตอบหรือไม่ก็ได้ แต่แก้ญัตติไม่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ