ศาลฎีกา สั่งจำคุก"ปลอดประสพ" 1 ปี 8 เดือน ชดใช้ 1.4 ล้านบาท ย้ายซี 8 โดยมิชอบ

ข่าวการเมือง Thursday March 5, 2020 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯในการย้ายข้าราชการ ต้องโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน และให้ออกหมายคดีถึงที่สุดด้วย

คดีนี้ นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายปลอดประสพ เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ก.ย.46 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคำสั่งแต่งตั้งนายวิทูรย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผอ.กองการอนุญาต กรมป่าไม้ ให้ไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.46 ระหว่างนั้นมีการตรา พ.ร.ฎ.โอนป่ากรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 30 ก.ย.46

ต่อมาระหว่างวันที่ 1 ต.ค.46-12 พ.ย.56 นายปลอดประสพ ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกคำสั่งให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่งเดิมที่ได้แต่งตั้งโจทก์ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อน อันเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ เพื่อยังยั้งไม่ให้โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจากโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน

กระทั่งวันที่ 12 พ.ย.46 นายปลอดประสพได้กลั่นแกล้งด้วยการให้ออกคำสั่งย้ายโจทก์ไปรับตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 ต่ำกว่าระดับเดิม อีกทั้งก็ไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ และจำเลยก็ทราบดีว่าผู้ออกคำสั่งไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ ดังนั้นคำสั่งย้ายจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อเสียชื่อเสียง และเสียสิทธิไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง จึงขอให้ชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ด้วย 2 ล้านบาท

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.60 เห็นว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ทั้งที่โจทก์มีคุณสมบัติจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหารได้ จึงให้จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท

ต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยต่างยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 เม.ย.61 เห็นว่า พฤติการณ์นับว่าเป็นความผิดร้ายแรง จึงไม่เห็นสมควรรอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 157 ประกอบมาตรา 84 อีกกรรมหนึ่งที่ใช้ให้นายดำรงค์โยกย้ายโจทก์ จึงให้จำคุก 2 กระทงๆ ละ 1 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทด้วย

หลังจากนั้น จำเลยได้ยื่นฎีกาต่อสู้คดีและได้ประกันตัวระหว่างฎีกาด้วยหลักทรัพย์ 400,000 บาท แต่เมื่อวันที่ 26 ก.พ.63 จำเลยไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ศาลจึงมีคำสั่งให้ปรับนายประกันเต็มจำนวน และให้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยเป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการจึงไม่ควรรอการลงโทษ และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาทนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนบทลงโทษนั้น ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน

นายปลอดประสพ เดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลก่อนถึงกำหนดนัดฟังคำพิพากษาฎีกาครั้งที่สามในวันที่ 7 เม.ย.63 พร้อมทั้งขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ โดยนายปลอดประสพ มีอาการป่วยต้องนั่งรถเข็นและใส่หน้ากากอนามัย มาศาลพร้อมกับญาติและผู้ใกล้ชิดราว 10 คน หลังศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาจบแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายปลอดประสพไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ