COVID-19ทีมเศรษฐกิจปชป.แนะรัฐบาลใช้ยาแรง อัดงบฯ 2 ล้านลบ.รับมือวิกฤติโควิด-19 กระตุ้นศก.ทั้งระบบ

ข่าวการเมือง Thursday April 2, 2020 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย กล่าวว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องใช้ยาแรงเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ที่เป็นวิกฤติใหญ่ที่กำลังลุกลามจากวิกฤตด้านสาธารณสุขไปสู่วิกฤตด้านเศรษฐกิจ มีความรุนแรงกว่าวิกฤตแฮมเบอเกอร์หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยผลกระทบครั้งนี้ขยายวงกว้าง โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.การใช้นโยบายด้านการคลัง 2 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนที่กำลังมีความหวาดกลัว

"มาตรการที่ออกมาแล้วยังไม่เพียงพอ ต้องยิงให้ตรงจุด ต้องมีไซส์ที่เหมาะสมเพียงพอ ผมถึงใช้คำวาบาซูก้า 2 ล้านล้านการออก พ.ร.ก.กู้เงินแสนล้านเพื่อนำมาแก้ปัญหา หรือการจ่ายเงินชดเชยให้คนละ 5 พันบาท/เดือนถือว่ามาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ" นายปริญญ์ กล่าว

โดยงบประมาณดังกล่าวจะนำไปใช้เพื่อเยียวยาผลกระทบให้กับ 1.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น ผู้ประกอบการโรงแรมที่ไม่มีคนเข้าพักจนต้องปิดตัวลงและยังไม่ได้รับการเยียวยาเลย 2.อุตสาหกรรมการเกษตรที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งจนทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และ 3.งบประมาณด้านสาธารณสุข เพื่อเร่งดำเนินการตรวจหาผู้ป่วยที่จะกำจัดการแพร่ระบาด การจัดงานเวชภัณฑ์ การดูแลสวัสดิการของบุคลากรทางการแพทย์ การจัดหาพื้นที่รองรับการกักตัวผู้ป่วย การสนับสนุนงบพัฒนายาและวัคซีน

ทั้งนี้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณที่มีอยู่เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหานี้แบบเทหมดทั้งหน้าตัก เพื่อแสดงมั่นใจและให้เห็นความจริงจังในการใช้งบประมาณของรัฐบาล ไม่ต้องรอการรับบริจาคจากประชาชน

2.การใช้นโยบายด้านนโยบายการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก แต่ยังมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง โดยต้องเข้ามาช่วยในเรื่องการหาตลาด การปรับบทบาทของสายการบินจากการรับส่งผู้โดยสารมาเป็นแอร์คาร์โก้ การสนับสนุนให้มีการใช้งานด้านเทคโนโลยีมากขึ้น การพักชำระหนี้ไม่ใช่แค่การพักชำระเงินต้นเท่านั้น

และ 3.การใช้นโยบายด้านการบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้เกิดการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชน การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เหมาะสม เช่น สนับสนุนการทำงานที่บ้าน (work from home)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ