COVID-19กมธ.สาธารณสุข ชง 7 ข้อเสนอให้รัฐบาล รองรับการแพร่ระบาดโควิด-19 ย้ำคงความเข้มข้นมาตรการป้องกัน

ข่าวการเมือง Thursday April 16, 2020 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า ได้จัดข้อเสนอแนวทางการเตรียมระบบรองรับการระบาดโรคโควิด-19 จำนวน 7 ข้อ เพื่อเสนอไปยังผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 1 คือ การชะลอการระบาดให้ช้าลง (Slow the Spread) โดยหากเข้าสู่ระยะที่ 2 ได้ จะต้องมีสัญญาณ เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงตามลำดับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน หรือรัฐสามารถตรวจคัดกรองประชาชนทุกคนที่มีอาการ และติดตามผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้แม้ว่าสถานการณ์จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอันเป็นผลจากมาตรการของรัฐบาล และกระแสความตื่นตัวของประชาชนที่เอื้อต่อการควบคุมโรค แต่ยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญและคงมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น

โดย 7 ข้อเสนอดังลก่าว ประกอบด้วย 1. ทบทวนแผนการดำเนินงานรายจังหวัดโดยเร่งด่วนภายในเดือน เม.ย.ให้ครอบคลุมจำนวนผู้ป่วย ระบบการให้บริการ รวมถึงการวางแผนเผชิญเหตุแบบ worst case scenario เพื่อให้การดำเนินการไม่หยุดชะงัก และควรกำหนดยุทธศาสตร์ในการผลิตเวชภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ชุด PPE หน้ากาก N95 เตียง เครื่องช่วยหายใจ และยา Favipiravir สำรองไว้ใช้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติตต่อที่อาจกลับมาใหม่ และควรมีความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์การระบาดรุนแรง และเพื่อให้ประเทศไทยยืนบนขาของตนเองได้ รวมทั้งควรคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรทางด้านการแพทย์ในลักษณะการควบคุมการแพร่กระจายเชื้อตามหลักสากล โดยให้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการคัดกรองโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยทุกรายตามข้อบ่งชี้ เช่น ผู้ป่วยที่ทำหัตถการ การคลอดหรือการผ่าตัด โดยรัฐหรือกองทุนสุขภาพต้องสนับสนุนต้นทุนการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าว อย่างเป็นรูปธรรมไม่เพิ่มภาระให้หน่วยบริการและประชาชน 2.ควรมีคณะทำงานด้านการป้องกันควบคุมโรค และระบบบริการการแพทย์ทุกจังหวัด เพื่อดำเนินการไปตามบริบทของแต่ละจังหวัดตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ พร้อมทั้งออกนโยบายการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาการติดเชื้อในประชาชนให้มากขึ้น หน่วยงานส่วนกลางออกนโยบายแนวทางและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น การเพิ่มการตรวจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมีการแพร่ระบาดที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมากหรือเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ และในพื้นที่ที่ยังมีการระบาดของโรคเป็นพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะมีคนไทยทยอยกลับจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก 3.ควรคำนึงผลกระทบด้านจิตใจของผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ และประชาชนที่จะส่งผลต่อภาวะเครียดเรื้อรัง และควรให้ความสำคัญกับสภาวะ Burnout syndrome ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

4.จัดสรรงบประมาณ แหล่งงบประมาณ และช่องทาง ให้เป็นไปตามแผนและอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลที่พิจารณาจัดสรรงบประมาณไปยังพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผน บริบทและปัญหาของแต่ละจังหวัด โดยผ่านกลไกผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อให้การบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว

5.กลไกการติดตามประเมินผล (M&E) ผ่านช่องทางผู้ตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอยู่ในทุกเขตสุขภาพ

6.สนับสนุนและส่งเสริมการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการแพร่ระบาดอย่างเป็นรูปธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายความเจริญและกระจายบุคลากรออกจากเขตกรุงเทพมหานคร

7.การวางแผนเตรียมการเพื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 จำเป็นต้องดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์ผ่อนปรนอย่างมีเงื่อนไข ตามข้อบ่งชี้และต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาจากมาตรการต่างๆ โดยคณะทำงานของ ศบค.ซึ่งยังต้องคงมาตรการ Social Distancing อย่างต่อเนื่อง และต้องมีมาตรการและแผนการเตรียมการประเมินสถานการณ์ที่เหมาะสม หากมีการระบาดกลับมาใหม่และพร้อมที่จะเข้มงวดในสถานการณ์กลับมาสู่ระยะที่ 1 อีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ