"เกียรติ สิทธีอมร" ห่วงพ.ร.ก.กู้เงินมีแหล่งที่มาไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย/"นิกร" เสนอเร่งฟื้นฟูภาคเกษตร

ข่าวการเมือง Thursday May 28, 2020 14:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตนเองมีข้อกังวลต่อการออก พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ประการแรกคือ แหล่งที่มาของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทยังไม่ระบุที่ชัดเจน ส่วนอีก 9 แสนล้านบาทที่จะนำมาช่วยเอสเอ็มอีและสร้างเสถียรภาพระบบการเงินที่นำสภาพคล่องในระบบมาใช้นั้นซึ่งยังไม่ระบุวิธีการที่ชัดเจน

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่จะเข้าไปฟื้นฟูนั้นมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม V shape ที่ฟื้นตัวได้เร็ว มีการจ้างงาน 4.8 ล้านคน กลุ่ม U shape ที่ต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัว มีการจ้างงาน 6.8 ล้านคน และกลุ่ม L shape ที่น่ากังวล มีการจ้างงาน 5 ล้านคน ซึ่งไม่มีใครกล้ารับประกันว่าเมื่อเข้าไปฟื้นฟูแล้วธุรกิจยังไปต่อได้ และหลักเกณฑ์วิธีการคัดกรองยังไม่ชัดเจน

ประการที่สอง วิธีการอาจไม่ตรงเป้าหรือไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 5 หมื่นล้านบาทของธนาคารออมสินมีคำสั่งให้พิจารณาลูกค้าชั้นดี ซึ่งไม่ได้ต้องการสินเชื่อ ไม่มีคณะกรรมการคัดกรอง เป็นเรื่องที่ธนาคารดูแลเอง

หากรัฐบาลต้องการให้การแก้ไขปัญหาตรงเป้าต้องปรับโครงสร้างกรรมการให้น่าเชื่อถือ ให้ตอบโจทย์ และคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องเยียวยาและฟื้นฟูต้องเป็นคนละชุด เพราะมีความชำนาญต่างกัน และการดูแลเรื่องฟื้นฟูควรมีตัวแทนของผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วม เพราะธุรกิจแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน

"อย่างแนวทางการฟื้นฟู เสนอโดยสภาพัฒน์ กรรมการพิจารณาโดยสภาพัฒน์ร่วมกับกระทรวงการคลัง และคนที่ทำรายงานความก้าวหน้าก็คือสภาพัฒน์ อย่างนี้คงไม่ใช่หลักธรรมาภิบาล" นายเกียรติ กล่าว

ประการที่สาม วิธีการเยียวยาให้ดูจากบัญชีธนาคาร ถ้าใครมีเงินไม่ถึง 2 หมื่นบาท โอนเข้าบัญชีให้เลย ไม่ต้องมาลงทะเบียน หากจะช่วยเหลือคนตกงานในระยะต่อไปขอให้ใช้วิธีจ้างงานพัฒนาท้องถิ่น

ประการที่สี่ ขอให้ปรับวิธีการตรวจสอบ แค่พูดว่าโปร่งใสคงไม่เพียงพอ ต้องมีกระบวนการจัดการ เช่น การเปิดเผยข้อมูลแบบเรียลไทม์

นายเกียรติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเพื่อฝ่าวิกฤตขอให้ยึดหลัก 3 ข้อ คือ 1.แก้วิกฤตต้องคิดลบพร้อมสยบทุกปัญหา 2.กระสุนมีจำกัดทุกนัดต้องเข้าเป้า ไม่มีความสูญเสีย และ 3.ต้องมีระบบป้องกันการคอร์รัปชั่น ไม่ใช่แค่พูดว่าไม่มี

ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้มีการปรับมาตรการที่ใช้ในการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจและสังคมในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะด้านภาคการเกษตร เนื่องจากโควิด-19 สร้างโอกาสให้ไทย จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป ไทยได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบทางการเกษตร จึงควรนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต การสานต่อมาตรฐานทางการเกษตร พัฒนาสินค้าสำเร็จรูป สร้างอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นเลิศในระดับโลก

พร้อมทั้งน้อมนำปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมายึดเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกันที่ดี มาเป็นหลักในการเยียวยาฟื้นฟู

ขณะที่นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ไม่สามารถสนับสนุนการออก พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับตามที่รัฐบาลเสนอ เนื่องจากดำเนินการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 วรรค 2 ซึ่งมีข้อสงสัยว่าเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลบางกลุ่ม อีกทั้งไม่มีการกำหนดรายละเอียดใดๆ แล้วนำมาเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาเห็นชอบไปก่อนซึ่งเหมือนกับเป็นการตีเช็คเปล่า

"นายกรัฐมนตรีจงใจจะออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ในลักษณะที่ตีเช็คเปล่า จะมาหลอกลวงให้สภาแห่งนี้อนุมัติแล้วเงินก้อนนี้จำนวน 9.5 แสนล้านไปตกอยู่ในมือของนายกฯ และรัฐมนตรีคลัง พ.ร.ก.ฉบับนี้มีการเล่นคำทางกฎหมาย โดยมีประชาชนเป็นตัวประกัน" นพ.เรวัต กล่าว

นพ.เรวัต กล่าวว่า ประชาชนสามารถเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทยได้ว่ามีความเข้มแข็ง ซึ่งสามารถผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่มาได้แล้ว 3-4 ครั้ง ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง เพราะนั่นแสดงว่าการบริหารอย่างบูรณาการของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ