SUPER POLL เผยปชช.ส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่แย่ลง-บ้านเมืองวุ่นวายมากขึ้น

ข่าวการเมือง Sunday June 14, 2020 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง แนวโน้มจุดยืนการเมืองประชาชน พบว่า เมื่อสอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมากว่า 1 ปี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43.2 ระบุชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง และร้อยละ 31.5 ระบุแย่เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุดีเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 3.4 เท่านั้นที่ระบุว่า ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ ในขณะที่ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง แต่สาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายมากขึ้นมากที่สุดหรือร้อยละ 21.8 ระบุ การแย่งตำแหน่งรัฐมนตรี รองลงมาคือร้อยละ 19.4 ระบุ ความแตกแยกของคนในพรรคการเมือง ร้อยละ 17.9 ระบุ คนในรัฐบาลเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย ร้อยละ 12.3 ระบุ ส.ส.จำนวนหนึ่งที่คอยสร้างความขัดแย้งกับคนอื่นไปทั่วรอบด้าน ร้อยละ 11.3 ระบุ ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจความวุ่นวายของบ้านเมือง และร้อยละ 17.3 ระบุอื่น ๆ เช่น มีคนจ้องจะถอนทุนคืน และผู้ใหญ่คล้อยตามแรงยั่วยุจากคนรอบข้าง

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามคนที่นายกรัฐมนตรีควรวางใจระหว่าง นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้คุมกระทรวงสำคัญ ถ้ามีการปรับคณะรัฐมนตรี พบว่า สูสีไม่แตกต่างกัน คือ ร้อยละ 25.1 ระบุ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ในขณะที่ร้อยละ 25.0 ระบุ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 49.9 ระบุอื่น ๆ เช่น ไม่ทราบ ไม่เสนอ ไม่ออกความเห็น เป็นต้น

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มจุดยืนทางการเมืองของประชาชน ตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึง ช่วงปลดล็อคผ่อนปรนโควิด-19 เดือนมิถุนายน 2563 พบว่า แนวโน้มกลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จากร้อยละ 52.2 ช่วงหลังกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐลาออก ไปอยู่ที่ร้อยละ 54.4 ในผลสำรวจล่าสุด ทิ้งห่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลที่มีอยู่ร้อยละ 22.3 และพลังเงียบหดตัวลงอีกจากร้อยละ 27.4 เหลือร้อยละ 23.3

SUPER POLL สำรวจภาคสนามกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 3,087 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 – 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ