"สาทิตย์"แนะรัฐบาลปรับโครงสร้างการจัดทำงบประมาณใหม่ เพื่อรองรับการแก้ไขวิกฤติ

ข่าวการเมือง Thursday July 2, 2020 13:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณปี 64 เกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ราว 1 เดือน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดเลยที่เสนอปรับเปลี่ยนการใช้งบประมาณเพื่อรองรับผลกระทบดังกล่าว เพราะห่วงโครงการของตัวเอง ดังนั้นการจัดทำงบประมาณปี 64 จึงไม่มีความแตกต่างไปจากก่อนหน้านี้ที่เป็นการจัดทำงบตามปกติ ไม่ใช่เพื่อแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น ซึ่งต่อมาสำนักงบประมาณได้พิจารณาปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ แล้วนำไปรวมไว้ที่งบกลางจำนวน 614,616.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.6% ของวงเงินงบประมาณ

"งบจำนวนมหาศาลอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี ทำให้มีอำนาจในการแก้ปัญหาได้มาก แต่ถ้าไปดูการใช้งบแล้วจะพบว่ามีปัญหาเยอะมาก ไม่รู้ว่าจะไปถึงมือประชาชนสักเท่าไหร่" นายสาทิตย์ กล่าว

ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีมากมายหลายเรื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหารวยกระจุกจนกระจาย และเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อย หากย้อนกลับไปดูรายงานของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรั่มเมื่อปี 61 ระบุว่า รายได้รวมของคนรวยในประเทศไทย 20% ที่อยู่ด้านบนจะแตกต่างจากรายได้รวมของคนจน 20% ที่อยู่ด้านล่างราว 10.3 เท่า และรายได้รวมของคนรวยในประเทศไทย 20% ที่อยู่ด้านบนจะสูงกว่ารายได้รวมของคนครึ่งประเทศรวมกัน

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของเครดิตสวิสระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งในประเทศมีสูงมาก โดย 1% ของคนรวยมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 66.9% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำติดอันดับที่ 27 ของโลก สูงกว่าประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ และผลศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศพบว่าทุกครั้งหลังโรคระบาดจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แม้รับบาลจะออกมาตรการบรรเทาผลกระทบก็ตาม เนื่องจากการตกงานและขาดรายได้

นายสาทิตย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ตนเองขอเสนอให้ปรับวิธีกลั่นกรองเงินกู้ 4 แสนล้านใหม่ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งปรับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพราะที่ผ่านมาอนุมัติแล้ว 9 หมื่นล้านบาท 5.6 หมื่นราย เฉลี่ยรายละ 1.6 ล้านบาทเท่านั้น และภาคธุรกิจด้านท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากสุดกลับได้รับอนุมัติสินเชื่อน้อยที่สุด นอกจากนี้ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายงบปี 63-64 อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเริ่มจัดทำงบปี 65 โดยจัดโครงสร้างและเป้าหมายใหม่ให้สอดคล้องกับวิกฤติที่เกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ