เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลังงานปรมาณูสากลหรือไอเออีเอได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบโรงงานไฟฟฟ้านิวเคลียร์ที่จังหวัดนิงาตะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.8 ริคเตอร์ เมื่อวันที่ 16 เดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยเป้าหมายของการตรวจสอบครั้งนี้ คือ การประเมินว่าจำเป็นต้องปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริว่าหรือไม่
บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค และสำนักงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นชี้ว่า เตาปฏิกรณ์ 7 แห่งที่โรงงานทั้ง 4 แห่งถูกใช้งานตามปกติในช่วงที่ได้มีการระงับการใช้งานอุปกรณ์บางส่วน ส่วนเตาปฏิกรณ์อีก 3 แห่งถูกระงับการใช้งานในช่วงเวลาการตรวจสอบ
นอกจากนี้ ทีมงานของไอเออีเอยังจะวิเคราะห์ปริมาณการรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงงานที่แพร่กระจายไปในอากาศและแหล่งน้ำ
ทีมงานที่เดินทางมาตรวจสอบโรงงานไฟฟ้าครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญของไอเออีเอและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านแผ่นดินไหว สำนักข่าวเกียวโดรายงาน
โรงงานไฟฟ้าคาชิวาซากิ-คาระว่าต้องปิดทำการหลังจากที่เหตุแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นทำให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสีและระบบการทำงานอื่นๆผิดพลาด และทำให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชน รวมทั้งยังเกิดเสียงวิจารณ์ถึงอุบัติเหตุและการปกปิดเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นจำนวน 55 เตานั้นผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 30%
เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังว่า การเข้ามาประเมินสถานการณ์ของไอเออีเอจะช่วยชี้แจ้งความถูกต้องของรายงานที่สื่อต่างชาติได้นำเสนอเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์:
[email protected]