"ธนาธร"ชี้แก้ รธน.เป็นแค่บันไดก้าวแรกสู่ประชาธิปไตยต้องปฎิรูปอีก 5 ด้าน

ข่าวการเมือง Friday September 18, 2020 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวในการเสวนา"ประเทศไทยในทศวรรษหน้า"จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า วันพรุ่งนี้จะเป็นวันครบรอบ 14 ปีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาเราเห็นการปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน ปิดสถานีโทรทัศน์ ปิดสี่แยกเศรษฐกิจ ปิดคูหาเลือกตั้ง มีการชุมนุม การล้อมปราบที่นำมาซึ่งคนบาดเจ็บล้มตาย การยุบพรรคการเมืองต่างๆ เราเห็นการรัฐประหารสองครั้ง การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจสองครั้ง การนำภาษีประชาชนและงบประมาณของประเทศมาเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใกล้ชิดเพื่อเป็นเสาค้ำยันการสืบบทอดอำนาจ

หากยังปล่อยให้อนาคตเป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา อนาคตแบบที่อยากเห็นไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้น นี่คือโอกาสที่ทุกคนจะหันกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งทุกฝ่ายมีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงทางตันตรงนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ พรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะมาตั้งต้นกันใหม่ ยอมรับความผิดพลาดในอดีต แล้วหาทางทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้าไม่เป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา และโอกาสที่จะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตกำลังจะหมดแล้ว

นายธนาธร กล่าวว่า ขั้นแรกที่สุดต้องหยุด "ระบอบประยุทธ์"เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ หาข้อตกลงใหม่ หยุดระบอบประยุทธ์ในรูปรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560

"แต่ต่อให้แก้รัฐธรรมนูญได้ นั่นก็ยังไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน แต่เป็นแค่บันไดก้าวแรกเท่านั้น เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นแบบที่ผ่านมาอีก เรายังมีอีก 5 ประการต้องทำคือ 1.ปฏิรูประบบราชการที่ส่วนกลาง คืนอำนาจงบประมาณให้ต่างจังหวัดมีอำนาจตัดสินอนาคตตัวเอง 2.ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง 3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด 4.ยกเลิกการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางเล็กแข่งขันกัน

และ 5. ถึงวันนี้คงมีความจำเป็นแล้วที่จะต้องพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้เข้าใจดีว่าเมื่อพูดแล้ว สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้คนหลายท่าน แต่อยากจะให้พวกเราย้อนกลับมามองดูในประวัติศาสตร์ว่าบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์กับหลักการประชาธิปไตยในปัจจุบันสอดคล้องกันหรือไม่ ดังนั้น เพื่อจะทำให้สังคมไปข้างหน้า เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่อไป หลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว"นายธนาธร กล่าว

ส่วนกรณีมีความกังวลว่าจะเกิดรัฐประหารรอบ 2 นั้น นายธนาธร กล่าวว่า รัฐประหารรอบนี้จะมีปัจจัยไม่เหมือนเมื่อปี 2549 หรือ 2557 ด้วยปัจจัยที่ต่างออกไปทำให้ไม่คิดว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารประเทศได้ปกติหลังรัฐประหาร และคิดว่าประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้าน อย่างน้อยก็ตนเองคนหนึ่งที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้

นายธนาธร กล่าวว่า จากการทำงานการเมืองมา 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เหลือความศรัทธาในสภาชุดปัจจุบัน ไม่เห็นว่ารัฐสภาวันนี้มีเจตนาที่แรงกล้าพอในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย พาสังคมไทยไปข้างหน้าแล้วหลุดจากความขัดแย้งครั้งนี้ได้ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา จะทำให้มีกฎกติกาแบบนั้นได้ มีแต่การส่งเสียงของประชาชน

กฎกติกาที่สังคมจะอยู่ได้ด้วยสันติ ไม่ต้องฆ่าฟันกัน ทุกคนเคารพในกติกานั้น จะทำให้มีกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ พาสังคมไปข้างหน้าได้ แต่ขณะนี้มีแต่การส่งเสียงของประชาชนว่าเราจะไม่ทนอีกแล้วกับสังคมแบบนี้ การชุมนุมแบบสันติปราศจากความรุนแรงและการใช้อาวุธ เป็นเครื่องมือเดียวที่จะทำให้เกิดอำนาจต่อรองและทำให้เขาต้องฟังประชาชน พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ ก็คือไปชุมนุมกันให้มากที่สุด

"ส่วนประเด็นที่มีความห่วงใยกันว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากการชุมนุม ผมเห็นว่าเวลาเราจะพูดถึงความรุนแรงหรือการปะทะ คนที่เราต้องเรียกร้องคือตำรวจ ทหาร และรัฐบาล ว่าจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามหรือไม่ การชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนหรือมีข้อเรียกร้องทางการเมืองเป็นเสรีภาพที่ได้รับประกันไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้แต่ในฉบับปี 2560 การชุมนุมอย่างสันติปราศจากอาวุธคือการใช้สิทธิในฐานะพลเมือง เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ที่จะเป็นผลดีต่อประชาธิปไตยด้วยซ้ำ และเมื่อย้อนไปดูในประวัติศาสตร์ ความรุนแรงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากการประชาชนเอาปืนไปยิงเจ้าหน้าที่รัฐก่อน แต่ล้วนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนทั้งสิ้น" นายธนาธร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ