"จรัญ"ระบุรธน.ไม่สมบูรณ์แต่วอนรับก่อน-แก้ทีหลัง/"นิธิ"ชี้ตั้งโจทย์แคบ

ข่าวการเมือง Friday August 3, 2007 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          เวทีดีเบตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โต้กันร้อน"จรัญ"นำทีมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงข้อมูลโต้นักวิชาการและนักการเมืองฝ่ายที่แสดงตัวชัดไม่เห็นด้วย โดยฝ่ายร่างฯยอมรับว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด แต่ขอให้ประชาชนร่วมกันลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ไปก่อนแล้วค่อยไปปรับแก้ทีหลังถ้าไม่พอใจ เพื่อให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเร็วที่สุด ขณะที่อาจารย์ม.เที่ยงคืนวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตีโจทย์แคบมากเกินไปไม่น่าบรรลุผลสำเร็จได้
"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสมบูรณ์ที่สุด แต่เป็นสิ่งจำเป็นในการคืนอำนาจประชาธิปไตยให้กับประชาชน"นายจรัล ภักดีธนากุล รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในเวทีการประชันความคิดเห็น "จุดเด่น ข้อด้อย ของร่างรัฐธรรมนูญ 2550" ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิองค์การกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต)
นายจรัญ ระบุว่า แม้ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 จะถูกหลายฝ่ายมองว่าเริ่มต้นไม่สวยงามเพราะมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ก็ถือว่ามีจุดเด่นตรงที่มีจุดกำเนิดมาจากกระบวนการประชาธิปไตย และปรับแก้จากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ให้ดีขึ้นโดยมุ่งใน 3 ประเด็นหลัก คือ การถ่วงดุลอำนาจ, ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง และนำระบบจริยธรรมและคุณธรรมมากำกับภาครัฐ
พร้อมยืนยันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เปิดรับฟังความคิดเห็นและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ได้คงจุดดีของรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ไว้และปรับแก้บางส่วนที่เป็นจุดด้อย และมิได้ถูกการแทรกแซงหรือถูกบงการจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน
"สิ่งที่พวกเราทำคือวิ่งเข้าไปหาประชาชนในฐานะที่เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมือง ไม่ใช่ผู้ที่มีส่วนได้เสียทางการเมือง ความรู้ความเชี่ยวชาญ หลากเล่ห์ หลายกล ไม่มี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำงานนี้ให้สำเร็จได้มีทางเดียวคือต้องมีประชาชนเป็นฐาน และเราก็จัดกระบวนการเข้าหาประชาชนในหลากหลายรูปแบบ" นายจรัล กล่าว
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 40 และปี 50 มีเป้าหมายที่เหมือนกันคือการมุ่งปฏิรูปการเมือง แต่เห็นว่าวิธีการวิเคราะห์โจทย์ของรัฐธรรมนูญปี 40 จะมีมุมมองที่กว้างกว่าปี 50 ที่มองว่ารัฐบาลในระบบเลือกตั้งมีปัญหา 3 ด้าน คือ มักอ่อนแอในทางการเมืองจนไม่สามารถบริหารรัฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่มีเสถียรภาพจนต้องฮั้วกัน, มักละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่บ่อยๆ และ รัฐบาลที่อ่อนแอและละเมิดสิทธิเสรีภาพจะเผชิญกับกระแสโลกาภิวัฒน์ได้อย่างไร
นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ได้ตอบโจทย์ไว้ด้วยการมุ่งสร้างคุณภาพของรัฐสภา, ทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้นเพื่อใช้กลไกของรัฐได้สะดวกขึ้น แต่เมื่อฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งจะมีอันตรายมากจึงสร้างกลไกการตรวจสอบไว้ด้วย เช่น มีส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งแต่ไม่สังกัดพรรคการเมือง มีการตั้งองค์กรอิสระ ให้สิทธิประชาชนในการเสนอกฎหมาย นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการระวังไม่ให้อำนาจทุนเข้ามาครอบงำการเมือง
"ถ้าจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าปี 40 ผมว่าลืมเรื่องภยันตรายจากทุนไม่ได้เป็นอันขาด และใครที่คิดจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาให้ดีกว่าต้องคิดเรื่องนี้ให้ดีว่าจะบัญญัติอย่างไรให้ประเทศชาติและประชาชนปลอดภัยจากการเบียดเบียนของทุนให้ได้" นายนิธิ กล่าว
นายนิธิ กล่าวว่า ก่อนการปฏิวัติรัฐประหารทุกฝ่ายต่างเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 40 สมควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่มีการทำรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.49 ก็ยังเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะมีความรอบด้านมากกว่านี้ เพราะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้บรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย
"เราใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มา 10 ปี มีคนหลายกลุ่มที่เผชิญปัญหาจากรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาจากประสบการณ์จริงของบุคคลเหล่านี้ส่งเข้ามาให้สภาเพื่อปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่การคิดเองของ ส.ส.ร." นายนิธิ กล่าว
พร้อมมองว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ไม่ได้นำความคิดเห็นจากประสบการณ์ตรงของประชาชนที่มีปัญหาจริงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 มาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นจึงถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ตั้งโจทย์ไว้แคบเกินไปและไม่น่าจะเกิดประสิทธิผล
สำหรับการจัดเวทีดีเบตเพื่อแสดงความคิดเห็นในข้อดี ข้อเสีย ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถเข้ารับฟังได้ พร้อมถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และวิทยุ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มงวด โดยนำเครื่องแสกนวัตถุระเบิดติดตั้งไว้ที่ทางเข้า-ออก รวมถึงตรวจกระเป๋าของผู้เข้าร่วมงานอย่างละเอียดด้วย
ผู้ร่วมเวทีดีเบตวันนี้ ประกอบด้วย ฝ่ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และฝ่ายนักวิชาการกับนักการเมือง คือ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน , นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย และนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ