ปชป.นัดส.ส.ถกแก้รธน. 16 พ.ย. พร้อมขอฟังความเห็นต่อร่าง iLaw ก่อนลงมติ

ข่าวการเมือง Sunday November 15, 2020 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธานส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เชิญส.ส. ของพรรคมาประชุมร่วมกันในวันที่ 16 พ.ย. เวลา 13.30 น. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง ที่รัฐสภาเตรียมที่จะพิจารณากันในวันที่ 17 และ 18 พ.ย. นี้ ในส่วนของพรรคจะเปิดโอกาสให้ ส.ส. แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเพื่อพิจารณาให้รอบด้านมากที่สุด

ส่วนการลงมติว่าจะรับร่างใดบ้างนั้น ทางที่ประชุม ส.ส. ได้เคยประชุมและมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมาว่าจะรับร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมลงชื่อด้วย และร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีหลักการใกล้เคียงกัน สำหรับร่างฉบับประชาชน ที่กลุ่มโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เสนอเข้ามานั้นคงต้องรอฟังความคิดเห็นของ ส.ส. ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร

ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่างที่จะมีการพิจารณาของรัฐสภานั้น ก่อนหน้านี้รัฐสภาได้มีการอภิปรายไปแล้ว 6 ร่าง จึงจะไม่มีการอภิปรายอีก ส่วนร่างที่เสนอเข้ามาใหม่ฉบับ iLaw นั้น จะมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น หลังจากนั้นก็จะมีการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้าง

ส่วนกรณีที่มีความวิตกกังวลว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะมีการลงมติไม่ให้ผ่านทั้งหมดนั้น ขณะนี้คงบอกไม่ได้ คงต้องรอจนถึงเวลาลงมติ อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว รัฐสภากำลังจะลงมติรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ดี ๆ ก็มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ พอมาถึงวันนี้กำลังนัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกันต่อ ก็มี ส.ว. รวมกับ ส.ส.รัฐบาลส่วนหนึ่งเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ร่างของรัฐบาลฝ่ายค้านและ iLaw จะทำได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นการประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ จึงไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่าจะมีการลงมติหรือไม่ และผลจะออกมาอย่างไร เพราะอาจมี "อภินิหารทางการเมือง" ทำให้เกิดเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนก็ได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตามหากไม่มีปัญหาติดขัดอย่างใด ก็คาดว่าอย่างน้อยที่สุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและฝ่ายค้านน่าจะผ่านไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าจะมีเสียง ส.ว. ประมาณ 84 เสียงลงมติให้ผ่านหรือไม่ ตามเงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องมีเสียง ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งยังคงมีอยู่นั้น จึงถือเป็นวาระสำคัญของบ้านเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบก่อนตัดสินใจที่จะดำเนินการอะไร เพราะถ้าวางแผนพลาด หรือตัดสินใจผิด ก็อาจทำให้ประเทศติดหล่มจมปลักอยู่กับความขัดแย้งจนยากจะเยียวยา โดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สามารถช่วยกันใช้เวทีรัฐสภาหาทางออกให้ประเทศได้ จึงขึ้นอยู่กับสมาชิกทุกคนว่าจะช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ หรือจะสร้างทางตันให้ประเทศ ดังนั้น จึงต้องฝากทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องโดยร่วมกันนำพาประเทศไทยเดินหน้าต่อไปให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ