ฝ่ายค้านเปิดเอกสารซักฟอกนายกฯ ปมนำทรัพยากรชาติแลกยุติคดีเหมืองทองอัครา

ข่าวการเมือง Wednesday February 17, 2021 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เป็นคนแรกในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม วันที่ 2 ต่อจากวานนี้ กรณีปัญหาเหมืองทองอัครา โดยได้เปิดเผยเอกสารลับที่ชี้ให้เห็นว่ามีการให้สิทธิกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ให้สำรวจแร่ทองคำเพิ่มเติมกว่า 4 แสนไร่เพื่อแลกกับการถอนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัมปทานครั้งแรก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากความเห็นของบริษัทที่ปรึกษากฏหมายของไทยชี้ว่าไทยอาจจะแพ้คดี และต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการตั้งกรรมการเพื่อขอประนีประนอมกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด

น.ส.จิราพร ระบุว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบมาตลอดว่าไทยอาจแพ้คดีจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเจรจาโดยนำทรัพยากรของประเทศไปแลกเพื่อยอมความ โดยไทยได้เริ่มดำเนินการตามที่คิงส์เกตฯ ร้องขอ ซึ่งในวันที่ 30 มิ.ย. 63 เจ้าหน้าที่เหมืองทองอัคราเข้าพบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และวันที่ 27 ส.ค. สำนักงานอุตสาหกรรมเพชรบูรณ์ได้ติดประกาศการขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ของเหมืองทองอัครา และเมื่อวันที่ 10 ก.ย. คิงส์เกตได้แจ้งผ่านเวปไซด์ว่า เหมืองทองอัคราได้รับอนุญาตนำผงทองคำและเงินออกมาจำหน่าย และเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ จำนวน 44 แปลงในพื้นที่ 397,227 ไร่

"ที่ดินแปลงนี้ ยื่นเมื่อปี 46 ผ่านไป 17 ปียังไม่ได้รับอนุญาต แต่พอไทยจะแพ้คดีใช้เวลา 3 เดือนเศษได้รับอาชญาบัตรพิเศษแล้ว"น.ส.จิราพร กล่าว

น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยให้ คิงส์เกตสำรวจแร่ ทั้งๆที่อนุญาโตตุลาการยังไม่คำชี้ขาดออกมา เท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีก้มหน้ายอมรับแล้วว่า การใช้มาตรา 44 เป็นการกระทำผิดต่อคิงส์เกตฯ แสดงให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยอมกลืนน้ำลายต่อสายตาคนทั่วโลก

ทั้งนี้ น.ส.จิราพร ระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้คิงส์เกตได้เปรียบ 100% ประเทศไทยตกเป็นเบี้ยล่างเป็นลูกไล่ให้กับบริษัทโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งรัฐบาลยอมทำทุกอย่างเพื่อให้คิงส์เกตถอนฟ้อง

นอกจากนี้ น.ส.จิราพร ได้เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลลับจากผลการประชุมคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับคิงส์เกต เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63 ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้จัดทำแผนงานหรือร่างโรดแมพ การประนีประนอมระงับข้อพิพาทกับคิงส์เกตเรียบร้อยแล้ว ทั้งการออกอาชญาบัตรจำหน่ายผงทองคำและเงินที่อยู่ในกระบวนการ การให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน การเปิดเหมืองทองชาตรีและการออกอาชญาบัตรพิเศษในพื้นที่อีก 6 แสนไร่ ซึ่งหากรวมพื้นที่ทั้งหมดก็เกือบ 1 ล้านไร่

น.ส.จิราพร ชี้ให้เห็นว่า เรื่องที่เกิดขึ้นต้นเหตุปัญหาทั้งหมดมาจากพลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 44

"คดีเมืองทองเป็นเรื่องสะท้อนให้เห็นว่า พลเอกประยุทธ์เป็นคนมักง่ายทางกฏหมาย เป็นคนมักได้ทางการเมือง ใช้ม.44 จนประเทศถูกฟ้องร้อง"น.ส.จิราพร กล่าว

ทั้งนี้ มีการประเมินว่ามูลค่าเสียหายมีการประเมินไว้ที่ 25,350 ล้านบาท จึงขอตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสู้คดีถึงที่สุดแล้วไปตายเอาดาบหน้า หรือจะเอาทรัพยากรธรรมชาติไปแลกเพื่อให้ถอนฟ้อง และหากแพ้คดีจะเอาเงินส่วนตัวไปจ่ายหรือเอาทรัพยากรไปแลกเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์เพื่อคนเดียว เพื่อรักษาอำนาจและโยนความผิดให้ประชาชนรับผิดชอบแทน จึงขอไม่ไว้วางใจให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปแม้แต่วินาทีเดียว

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่า ไม่มีการแลกเปลี่ยนที่ดิน 4 แสนไร่เพื่อให้ถอนฟ้องกับบริษัทเอกชนในคดีเหมืองทองอัครา ซึ่งการใช้มาตรา 44 ยุติการทำเหมืองเพื่อลดผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน แต่ยังให้สิทธิเหมืองทองยื่นขออนุญาตสำรวจแร่ภายหลังได้ ซึ่งบริษัทอัคราฯ ได้ยื่นขออนุญาตสำรวจแร่ในที่ดินและได้รับอนุญาตตามกรรมการที่มีหน้าที่ ดังนั้นจึงไม่ใช่การขอแลกที่ดินเพื่อถอนฟ้อง

นายสุริยะ ยังชี้แจงถึงกรณีที่ระบุว่า รัฐบาลแพ้ 100% หากแพ้จริงๆ คิงส์เกต คงไม่เจรจา เพราะได้เงิน 2.5 หมื่นล้านบาทฟรีๆ ทำไมถึงต้องมาแลกกับอาชญาบัตร เพราะต้องใช้เวลาเท่าใดกว่าจะลงทุนกว่าจะได้กำไร ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทอัคราฯลงทุนในไทย 15 ปีมีกำไรประมาณ 5,000 ล้านบาท และต้องใช้เวลาลงทุนถึง 25 ปี ถึงจะได้เงิน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยยืนยันว่า การที่คิงส์เกตกลับมาเจราจา ไม่ใช่เรื่องเอื้อประโยชน์ให้ แต่ทางคิงส์เกตมองเห็นว่า ราคาทองคำขึ้น จึงคิดว่า ควรกลับมาทำกิจการต่อ

ส่วนรูปคดีที่ต่อสู้นั้น คิงส์เกต และกรมเหมืองแร่ ยื่นให้อนุญาโตตุลาการเลื่อนเพื่อหารือร่วมกันอีกครั้ง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายรองรับ

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงเรื่องเหมืองแร่อัคราว่า บริษัทแม่ที่ต่างประเทศได้ฟ้องร้องรัฐบาลไทย เนื่องจากบริษัทลูกไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2550 และรัฐบาลไทยได้ต่อสู้ตามกระบวนการ และกติกาสากล และในสิ่งที่รัฐบาลและประชาชนได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การใช้พื้นที่ที่ต้องสำรวจเรื่องความถูกต้อง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบการต่อสู้คดีระหว่างประเทศและนำเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ สิ่งสำคัญที่อาจกระทบต่อการพิจารณาคดี คือ การนำเรื่องที่อยู่ในชั้นศาล มาพูดภายนอกและฝ่ายค้ายนำมาอภิปรายและให้ข่าว ซึ่งทั้งหมดเป็นการคาดการณ์ทั้งสิ้น และเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยเรื่องทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยืนยันไม่ใช่การปิดเหมือง แต่เป็นเรื่องการต่อสัมปทานอาชญาบัตรเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชน และไม่ได้ใช้เฉพาะเหมืองแร่อัคราเท่านั้น แต่ใช้กับเหมืองแร่ทั้งหมด จึงไม่มีการเสนอเรื่องผลประโยชน์อย่างที่มีการกล่าวหา โดยการดำเนินการใดๆ รัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ยืนยันไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการใช้คำสั่ง แต่หารือหน่วยงานที่รับผิดชอบ

"ถ้าเอาอันนี้มาตีอันนั้นมาตี แล้วสรุปจะเอายังไง ก็ต้องมีคนเดือดร้อน ผมไม่อยากให้ใครเดือดร้อนทั้งสิ้น แต่ก็จำเป็น บางอย่างเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดมาก่อนหน้า ผมก็ต้องแก้ปัญหา ถ้าผมไม่พูด ทุกคนก็ไม่รู้กันว่าเกิดตั้งแต่เมื่อไหร่ ปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมรัฐบาลนี้มาแก้ และก่อนหน้านี้ไม่แก้ให้เสร็จเรียบร้อย ทำไมต้องมาถึงตอนนี้ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ