วิปฝ่ายค้านวอนศาลรธน.ฟังความเห็นเพิ่มเติมก่อนวินิจฉัยร่างแก้รัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2021 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า ได้หารือกันถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และมีความกังวลกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องที่ ส.ส.และ ส.ว.ยื่นให้ตีความว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาพิจารณาอยู่ อาจจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยจะวินิจฉัยในวันที่ 4 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผลและมีนัยที่จะพิจารณาในวาระที่ 3 ที่กำหนดไว้คร่าวๆ ว่าจะพิจารณากลางเดือนมี.ค.

โดยหากผลการพิจารณาออกมาเป็นลบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ กังวลว่าจะมีผลทางสังคมเกิดความหวาดระแวง จึงเตรียมทำหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังความเห็นเพิ่มเติมจากฝ่ายอื่นให้กว้างขวางขึ้น ทั้งนี้ ยังกังวลว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาในทางลบ จะก่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้คนที่อกหักและรับไม่ได้ อาจจะก่อให้เกิดสถานการณ์บานปลายได้

นายสุทิน กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญยังมีประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกัน เช่น การกำหนดที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.), จำนวนเสียงลงมติที่จะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันของฝ่ายค้าน ก็จะให้แต่ละพรรคนำกลับไปพิจารณา และค่อยกลับมาหารือกันเพื่อให้การลงมติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (24 ก.พ.) จะนำวาระเรื่องของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ มาพิจารณาก่อน แต่ยืนยันว่าการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 จะต้องเสร็จภายใน 2 วันนี้

ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยังได้หารือและประเมินการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนพึงพอใจกับการทำงานที่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบชี้ผิดชี้ถูกชี้ข้อบกพร่องของรัฐบาลที่ควรแก่การนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และมั่นใจว่าหลายประเด็นที่นำเสนอเป็นประเด็นที่สังคมได้ตระหนักเห็นชัดเจนว่าเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล ซึ่งมีทั้งที่ขัดกฎหมาย และผิดจริยธรรม โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้ติดตามเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด ผ่านมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางการเมือง

ทั้งนี้ วิปฝ่ายค้านได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาทั้งข้อกฎหมายและจริยธรรม โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะได้ข้อสรุปและสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ โดยในเบื้องต้นมีผู้ที่อยู่ในข่ายจะถูกยื่น อย่างน้อย 4 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ