PoliticalView: นักวิชาการมองอุณหภูมิการเมืองนอกสภาเริ่มร้อน หลังปมแก้รธน.อาจถูกเตะถ่วง

ข่าวการเมือง Friday March 12, 2021 17:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยต้องให้มีการทำประชามติก่อนว่า กรณีดังกล่าวเป็นการท้าทายให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา ซึ่งจะเป็นแรงกดดันทางการเมืองระลอกใหม่ เนื่องจากมองว่าผู้ที่เสนอให้วินิจฉัยเรื่องนี้ จะนำไปเป็นเหตุผลสนับสนุนให้รัฐสภากลับไปเริ่มต้นกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน ซึ่งในส่วนนี้มีเสียงสนับสนุนค่อนข้างมาก ขณะที่ฝ่ายค้านเองคงได้แค่พูดในที่ประชุมรัฐสภาเท่านั้น แต่ทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้

"ไม่ว่าจะมีความเห็นโต้แย้งอย่างไร แล้วจะไปทำอะไรได้ คิดว่าคนเสนอเรื่องนี้คงถือโอกาสเบรคเรื่องไว้ แล้วให้ไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ซึ่งเป็นจุดประสงค์แท้จริง เพราะไม่ต้องการให้มีการแก้ไข พยายามหาหนทางเตะถ่วงให้นานที่สุด" นายสุขุม กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ ได้มีมติเสียงข้างมาก 8:1 วินิจฉัยกรณีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) ว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติก่อนว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง

ขณะที่นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาเป็นการปิดล็อคการเมืองไม่ให้มีทางออก ถือเป็นวิกฤตของรัฐธรรมนูญ เพราะในซีกของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถือคำวินิจฉัยเป็นใหญ่ ต้องเห็นว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของรัฐสภาต้องตกไปโดยปริยาย แต่หากที่ประชุมรัฐสภาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดปัญหาให้ถูกนำไปฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งจะยิ่งสร้างปมปัญหาซ้อนเข้าไปอีก

"คำวินิจฉัยที่กำกวม ต้องมาตีความ ทั้งที่ควรจะชัดเจน มันยิ่งซ้ำเติมวิกฤตมากขึ้น วิกฤตรัฐธรรมนูญกำลังเริ่มแล้ว หลังจากนี้จะเดินหน้าไปอย่างไร สถานการณ์ตอนนี้เหมือนหม้อต้มน้ำกำลังเดือดที่รอวันระเบิด" นายสุรชาติ กล่าว

นายสุรชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอดูท่าทีรัฐสภาว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าใครที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง และใครกันที่เตะถ่วงและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไข ตนเองคิดว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นระเบิดเวลาของการเมืองทั้งระบบ มันไม่ใช่ทางตัน แต่เป็นวิกฤตที่ทวีความรุนแรงที่ทุกฝ่ายช่วยกันสุมเชื้อไฟ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ