รัฐสภาถกทางออกปมโหวตแก้ รธน.วาระ 3 กว่า 4 ชม.ยังไร้ข้อสรุป

ข่าวการเมือง Wednesday March 17, 2021 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... เพื่อหาทางออกในการพิจารณาลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระสาม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมรูญจำเป็นต้องให้ประชาชนลงมติเสียก่อน ได้มีการเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายเพื่อหาทางออก โดยผ่านไปแล้วกว่า 4 ชั่วโมง ยังไม่มีข้อยุติ

สำหรับแนวทางที่มีการหยิบยกขึ้นมาหารือ ได้แก่ รัฐสภายุติการพิจารณาฯ, ให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาฯ แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทางออก, ให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาฯ แล้วไปจัดทำประชามติก่อน และให้รัฐสภาดำเนินการตามขั้นตอนโดยลงมติวาระสามต่อไป

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้อภิปรายชี้แจงเหตุผลที่รัฐสภาไม่สามารถดำเนินการลงมติโหวตฯ วาระสามต่อไปได้อีกเพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเสนอญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามตกไป

ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ยืนยันว่า ที่ประชุมรัฐสภามีอำนาจที่จะเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามต่อไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่าไม่ให้ลงมติวาระสาม ส่วนมติจะออกมาอย่างไรก็ไม่ว่ากัน แต่ขอให้ดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กรณีนี้ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เป็นการปรับแก้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตกไปนั้นเป็นการตีความที่คิดไปเอง โดยไม่มีกฎหมายรองรับ หวังเตะถ่วงเหนี่ยวรั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ล่าช้าออกไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เพื่อให้ทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความชัดเจน ไม่เกิดการถกเถียงกันอีกแม้จะมีคำวินิจฉัยกลางออกมาแล้วก็ตาม โดยเสนอญัตติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) อีกครั้งเพื่อชี้ให้ชัดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณากันอยู่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และต้องจัดทำประชามติเมื่อไหร่ ไม่ด้มีเจตนาเพื่อเตะถ่วง เพราะพรรคมีจุดยืนที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยไม่เกิดข้อสงสัยขึ้นอีก

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พท. กล่าวว่า การที่สมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติซ้อนกันจะมีผลให้ญัตติก่อนหน้าตกไป ดังนั้นจึงขอให้มีการพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งนายชวนชี้แจงว่าเป็นการขออนุญาตที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นก่อนแล้วจะกลับมาพิจารณาญัตติที่เสนอทั้งหมดอีกครั้ง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีปัญหาเรื่องการตีความอย่างมาก แม้แต่อดีตตุลาการรัฐธรรมนูญเองก็ยังมีความคิดเห็นต่างกัน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ว่ากระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาของรัฐสภาไม่ถูกต้อง ดังนั้นควรเดินหน้าต่อไปตามอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา ส่วนมติที่ออกมาจะเป็นอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบกัน เพราะถ้าส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งก็คงไม่รับไว้พิจารณา หรือถ้าชะลอไว้เพื่อทำประชามติก็ไม่สามารถทำได้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมฯ นั้นเป็นการออกแบบจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ตนเองเตรียมทำเรื่องเสนอประธานรัฐสภาให้ส่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำประชามติ โดยชะลอการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำประชามติก่อนจะดีกว่าปล่อยให้ตกไป เพราะจะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน หากผลการจัดทำประชามติออกมาอย่างไรก็ดำเนินการตามความเห็นดังกล่าว

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า รัฐสภาควรหาทางออกในเรื่องนี้ เพื่อเดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อไม่ทำให้ประชาชนเห็นว่ารัฐสภาเล่นปาหี่ ที่ผ่านมาไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พท. กล่าวว่า การชะลอพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไปย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด เป็นแค่การเลื่อนปัญหาออกไปเท่านั้น เพราะเมื่อถึงเวลาก็ต้องดำเนินการตามเดิม ดังนั้นควรที่จะดำเนินการลงมติสวาระสามตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไป ซึ่งหากตกไป ฝ่ายค้านก็เตรียมเสนอร่างแก้ไขรายมาตราเข้ามาใหม่ซึ่งจะดำเนินการได้ทันสมัยประชุมหน้าแน่นอน แต่หากทิ้งเรื่องคาราคาซังไว้ก็จะเสียเวลาทำให้ดำเนินการไม่ทัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ