ฝ่ายค้าน ผิดหวังภูมิใจไทยวอล์คเอาท์โหวตแก้รธน.วาระ 3 จี้นายกฯรับผิดชอบ

ข่าวการเมือง Thursday March 18, 2021 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในวาระ 3 ที่มีมติโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองของหลายฝ่าย โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่ส่วนตัวคาดไม่ถึงว่าจะใช้วิธีการวอล์คเอาท์ เพราะฝ่ายค้านยังคาดหวังเสียงจากพรรคภูมิใจไทย ที่ประกาศมาตลอดว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคาดว่าจะสามารถพลิกเกมให้ผ่านความเห็นชอบไปได้ แต่เมื่อพรรคภูมิใจไทยใช้วิธีการนี้ ก็ยอมรับว่าผิดหวัง

นายสุทิน ยอมรับว่า ฝ่ายค้านไม่ปฎิเสธที่รู้อยู่แล้วว่าเดินหน้าลงมติวาระ 3 จะเกิดการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ซึ่งสิ่งที่ฝ่ายค้านจับตาเมื่อวานนี้ คือลุ้นว่าฝ่ายรัฐบาลจะคว่ำในขั้นตอนใด เพราะมี 2 สเต็ป คือ คว่ำก่อนลงมติวาระ 3 เพื่อไม่ให้มีการโหวตเลย กับคว่ำตอนโหวตวาระ 3 ซึ่งทราบมาว่ามีการตั้งเป้าจะคว่ำก่อนลงมติอยู่แล้ว โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ จนในที่สุดฝ่ายรัฐบาลเปลี่ยนแผนใช้วิธีการล้มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการโหวตวาระ 3 ตามญัตติของฝ่ายค้าน จนทำให้คนสงสัยว่าเหตุใดฝ่ายค้านจึงรับรองญัตติให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และยืนยันว่าในประเด็นนี้ฝ่ายค้านยืนอยู่จุดนี้มาโดยตลอด เพื่อเดินหน้าลงมติวาระ 3 แต่สุดท้ายฝ่ายรัฐบาล โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ใช้วิธีการนี้ในการเดินเกม อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปแน่นอนอีกแน่นอน แต่จะแก้อย่างไร ก็ต้องมาทบทวนบทเรียนกันก่อน

นายสุทิน ยังถามถึงความรับผิดชอบไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก่อนที่รัฐบาลจะทำประชามติหลังจากนี้ ว่ารัฐบาลควรตอบสังคมให้ได้ว่านโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร และจะรับผิดชอบอย่างไรในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการร่วมรัฐบาล และมีการแถลงนโยบายนี้ต่อรัฐสภาไว้ชัดเจน แต่พรรคร่วมรัฐบาลกลับมาล้มกันเอง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ แล้วค่อยเดินหน้าทำประชามติ ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของรัฐบาลแล้ว เพราะการทำประชามติตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญต้องเริ่มจากรัฐบาล

ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การที่พรรคภูมิใจไทยจำนวนหนึ่งออกจากห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมลงมติในวาระ 3 และให้เหตุผลว่าควรจะมีการเลื่อนวาระที่ 3 ออกไปก่อน เพื่อไปถามศาลรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจนอีกครั้งนั้น ก็เป็นเพียงข้ออ้างเช่นกัน และยิ่งเป็นการทำให้หลงทิศหลงทาง เพราะจะทำให้เป็นการเตะถ่วงยืดเยื้อไปอีกนาน ยิ่งเป็นการสร้างความเสียหาย เสียโอกาสสำหรับสังคมไทยในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปอีก

"พฤติการณ์ที่ผ่านมาชัดเจนโดยตลอดว่า ผู้มีอำนาจร่วมมือกับส.ว.และ ส.ส.จำนวนหนึ่ง พยายามเตะถ่วงมาโดยตลอดให้นานที่สุด ให้ประเทศไทยอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. (2560) ให้ยาวนานที่สุด และไม่มีความต้องการที่จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดังนั้นประเด็นเรื่องจะทำประชามติ หรือไม่ทำประชามติ หรือต้องทำประชามติตอนไหน เป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น"

นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค หากมีความจริงใจจริงๆ ต้องการผลักดันให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริงๆ ต้องถามความรับผิดชอบจากแกนนำโดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้ เมื่อมีการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 โดยอ้างว่าต้องไปถามประชาชนก่อนผ่านการทำประชามติ ดังนั้นหลังจากที่พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ... ที่จะพิจารณาในวันนี้ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย หลังจากนี้รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบที่จะต้องจัดทำประชามติโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นคนตัดสินใจลงมติว่าทั้งประเทศเห็นชอบหรือไม่ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผ่านการตั้งส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

นอกจากนั้น อาจมีความจำเป็นต้องถามในประเด็นที่สำคัญ เป็นคำถามพ่วงไปด้วย เช่น ประชาชนเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อยู่ต่อไป หรือเห็นชอบหรือไม่ที่จะต้องมีการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่เสียงของประชาชนมีความชอบธรรมที่สุดที่จะลงมติ โดยในเช้าวันนี้ ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีการประชุมหารืออีกครั้ง

ด้านพล.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า แม้ฝ่ายค้านจะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการอย่างเต็มที่แล้ว แต่จะเห็นได้ว่ามีกระบวนการที่ถ่วงรั้งอยู่ตลอดเวลา และตีรวนจนกระทั่งเอาอำนาจของสภาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปตามที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการสืบทอดอำนาจดังที่มีการวางแผนไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ