นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือของกลุ่มอาเซียนถูกทำลายหลังไม่สามารถรับมือกับวิกฤติประชาธิปไตยในพม่า
"กลุ่มอาเซียนรับมือกับปัญหาในพม่าได้แย่มาก" เทรเวอร์ วิลสัน อดีตทูตออสเตรเลียประจำพม่ากล่าว
การประชุมสุดยอดประจำปีซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมาควรจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากเป็นการฉลองครบรอบ 40 ปีความสัมพันธ์อาเซียน และยังมีการลงนามร่วมกันเพื่อทำให้กลุ่มอาเซียนมีความเป็นเอกภาพและมีอำนาจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ทั่วโลกจับตามองพม่าทำให้อาเซียนสนใจประเด็นปัญหาในพม่ามากกว่า
แต่อาเซียนก็ประสบความล้มเหลวในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว หลังพล.อ.เต็งเส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า ปฏิเสธที่จะให้นายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษจากสหประชาชาติ ขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับวิกฤติการณ์ในพม่าต่อหน้าผู้นำกลุ่มอาเซียนและพันธมิตรจากออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ด้านผู้นำประเทศอื่นก็ได้แต่นิ่งเงียบ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์จึงยอมทำตามและยุติการประชุม
"การที่กลุ่มอาเซียนถือคติห้ามแทรกแซง ส่งผลให้แต่ละประเทศสมาชิกไม่สามารถใช้นโยบายที่เป็นแบบแผนเดียวกันได้" เดเมียน คิงส์บิวรี รองศาสตราจารย์จาก School of International and Political Studies แห่งมหาวิทยาลัย Deakin University ในออสเตรเลียกล่าว
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนคนใหม่กล่าวว่า นายกฯสิงคโปร์เชิญนายกัมบารีมาร่วมการประชุมด้วยเจตนาที่ดี แต่สมาชิกบางส่วนอาจยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ วิกฤติการณ์ในพม่าไม่มีวี่แววที่จะสิ้นสุดลงก่อนการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนซึ่งจะมีขึ้นในเดือนก.ค.2551 โดยมีสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียล รายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ปรียพรรณ มีสุข/ปนัยดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 323 อีเมล์:
[email protected]