กมธ.ยื่น 2 กม.ลูกเข้าสภา คาดที่ประชุมร่วมถก 9-10 มิ.ย.

ข่าวการเมือง Tuesday May 24, 2022 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต ปิตะเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เปิดเผยว่า กมธ.ได้ยื่นร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว โดยจะบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาได้ในวันที่ 9-10 มิ.ย.นี้ โดยกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มีความสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลและนายกฯ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลจะครบวาระหรือนายกฯ ยุบสภา

ทั้งนี้ การแก้ไขของ กมธ.ต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มี 37 มาตรา คงเนื้อหาตามร่างหลัก จำนวน 23 มาตรา แก้ไขเพิ่มเติม 9 มาตรา และตราขึ้นใหม่ 5 มาตรา ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีเนื้อหา 16 มาตรา คงเดิม 7 มาตรา แก้ไขเพิ่มเติม 6 มาตรา และเพิ่มขึ้นใหม่ 3 มาตรา

โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะแบ่ง ส.ส.เป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน มีวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยนำคะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศหารด้วย 100 มาหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และใช้เบอร์สมัครรับเลือกตั้งต่างเขตต่างเบอร์

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ กล่าวว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น กมธ.แก้ไขวิธีทำไพรมารีโหวตให้สะดวกขึ้น ให้พรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ด้วยวิธีไพรมารีโหวตแค่เขตใดเขตหนึ่งในจังหวัดเท่านั้น ไม่ต้องทำทุกเขต

ทั้งนี้ หลังจากร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับผ่านที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 2-3 แล้ว จะส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะเจ้าของกฎหมายพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือแก้ไขกฎหมายในส่วนใดหรือไม่ ไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยกเว้นจะมีผู้เห็นแย้ง สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 ส่งให้ตีความ

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะ กมธ.ฯ กล่าวว่า หากยึดคะแนนจากการเลือกตั้งปี 54 เป็นเกณฑ์แล้ว การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามร่างกฎหมายลูกที่แก้ไขใหม่จะมีค่าเฉลี่ยของ ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อคนอยู่ที่ 3.2 แสนคะแนน ส่วนคะแนนปัดเศษหลังจากคำนวณแล้วยังได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ครบ 100 คนนั้น พรรคที่จะได้การปัดเศษมี ส.ส.บัญชีรายชื่อในส่วนที่เหลือเพิ่ม อย่างน้อยต้องมีคะแนนเศษตั้งแต่ 1.7 แสนคะแนนขึ้นไป

เมื่อถามถึง กรณีการเสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้สูตรคำนวณของ กมธ. นายสมชัย กล่าวว่า การเสนอคำแปรญัตติเป็นสิทธิ ส่วนจะทำให้สูตรคำนวณพลิกไปจาก 100 คนหารหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภา แต่หากในชั้นพิจารณาพบว่าแนวทางถูกแก้ไขเป็นหาร 500 อาจต้องพักการประชุมเพื่อหารือถึงรายละเอียด

ด้านนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ส.ว.ในฐานะ กมธ.ฯ กล่าวว่า แม้ กมธ.จะมีมติวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีให้หารด้วย 100 แต่ กมธ.ที่เห็นต่างยังสงวนความเห็นในชั้นแปรญัตติวาระ 2-3 ส่วนตัวเห็นต่างมองว่า ควรหารด้วย 500 เพราะการเขียนกฎหมายลูกต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกพรรค ไม่ว่าพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก วิธีการหารด้วย 500 จะทำให้พรรคเล็กได้ประโยชน์ด้วย เพื่อให้คนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าสภามาทำหน้าที่ออกกฎหมาย แม้โอกาสที่จะเข้ามาเป็นเสียงข้างมากจะเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ควรปิดโอกาสกันตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม หากที่ประชุมรัฐสภาลงมติวาระ 2-3 ยืนยันให้ใช้ 100 หาร ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตนคงไม่ร่วมลงชื่อตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่กับ ส.ว.คนอื่นๆที่เห็นต่างกันเรื่องนี้ ไม่สามารถการันตีได้จะไปเข้าชื่อยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะ กมธ.และที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า ภาพรวมของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และ ส.ส.เขต 400 คน แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมต้องไม่เกินหลักการดังกล่าว ทั้งนี้เนื้อหาเป็นไปได้ดีพอสมควร

เมื่อถามว่า กติกาที่แก้ไขเอื้อให้พรรค พท.ชนะเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้าแบบแลนด์สไลด์หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สูตรคำนวณที่ใช้ 100 คนหารนั้น มีหลายพรรคเสนอเนื้อหา ไม่ใช่พรรค พท.เสนอเท่านั้น ส่วนจะทำให้พรรค พท.ชนะแบบแลนด์สไลด์หรือไม่ เป็นประเด็นที่คนตั้งคำถามคิด แต่ท้ายสุดอยู่ที่ประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ