(เพิ่มเติม) ปธ.วิปรัฐบาล รับแก้อำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกฯ เป็นไปได้ยาก, ชี้โควต้ามท.2 ขึ้นกับปชป.

ข่าวการเมือง Monday September 5, 2022 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมวิปรัฐบาลจะพิจารณากฎหมายที่ ส.ส.ยื่นเสนอเข้ามายังสภาฯ เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้ดูแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะดูแล้วเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การจะไปแก้ไขในหลักการก็คงทำได้ยากเหมือนกัน ยังไม่มีการส่งสัญญาณว่าจะไม่ให้แก้ไขเรื่องนี้ แต่คาดว่าจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เพราะเป็นการไปแก้ไขอำนาจของ ส.ว.

ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อเนื่องเลยหรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม นายนิโรธ ระบุว่า ไม่ขอคาดเดา แต่ พล.อ.ประวิตร เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้บริหารของประเทศ และมีประสบการณ์ด้านการเมืองและมีความเป็นนักการเมือง

สำหรับการเสนอชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร เป็นอันดับที่หนึ่งของพรรคพลังประชารัฐนั้นถือเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ต้องพูดคุย ตนไม่ขอก้าวล่วง

ส่วนกรณีที่นายนิพนธ์ บุญญามณี ได้ลาออกจากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ถือเป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องพิจารณาว่าจะมีการเสนอปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีหรือไม่ และจะเสนอใครมาแทน โดยพรรคพลังประชารัฐจะไม่เข้าไปก้าวล่วงโควต้าของพรรคอื่น ส่วนกรณีมี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตร ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น นายนิโรธ กล่าวว่า เท่าที่สอบถามนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ได้แจ้งว่าไม่ได้หมายความถึงการปรับ ครม. และไม่ได้เรียกร้องให้มีการยึดคืนตำแหน่งรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยก่อนประชุมวิปฝ่ายค้านถึงแนวโน้มการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เคยเสนอกันมาหลายครั้งแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่สำเร็จ ซึ่งเชื่อว่าเวลาที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะส่วนที่ยังเห็นต่างนั้น จะได้ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น และจะเห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข

เมื่อถามว่า ส.ว.จะเห็นชอบกับการตัดอำนาจ ส.ว.เองหรือไม่ นายสุทิน ระบุว่า ตามหลักแล้วคงยากที่จะให้ ส.ว.ตัดอำนาจตัวเอง แต่ ส.ว.อาจจะคิดได้ว่าจวนจะหมดวาระไปแล้ว และอีกประการคือ มี ส.ว.ไม่น้อยที่เห็นควรให้ตัดอำนาจข้อนี้ออก จากเหตุปัจจัยทั้งสถานการณ์และบริบท ดังนั้นจึงน่าจะมีความหวังมากขึ้น

ส่วนการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะมีผลต่อการอภิปรายหรือไม่นั้น นายสุทิน กล่าวว่า มีผล ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเมื่อใดนั้น คงตอบได้ยาก แต่น่าจะอยู่ภายในเดือนกันยายนนี้ เพราะมีแค่ 2 มาตรา อีกทั้งประเด็นนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงเชื่อว่าศาลฯ คงจะไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อ

นายสุทิน กล่าวว่า ในวันนี้จะหารือถึงวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 6-7 กันยายนเป็นสำคัญ ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยหลายฝ่าย โดยวันนี้วิปฝ่ายค้านจะหารือกันในเรื่องเนื้อหาสาระ ทิศทาง การจัดสรรเวลา และผู้อภิปราย รวมถึงประเด็นที่ควรจะต้องอภิปรายกัน

โดยในวันที่ 6-7 กันยายน จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มีทั้งหมด 5 ฉบับ ได้แก่ ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 272 เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย (สร.) และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 64,151 คน และร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 120 เสนอโดยนายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับคณะ

นายสุทิน กล่าวต่อว่า โดยส่วนที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยมีทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคณะ เป็นผู้เสนอ 2.ร่างฯ เพิ่มมาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 นพ.ชลน่าน กับคณะ เป็นผู้เสนอ 3.ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นพ.ชลน่าน กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งเกี่ยวข้องกับที่มาของนายกรัฐมนตรีจากการเลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น ตลอดจนการตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งสอดคล้องกับร่างฯ ที่เสนอโดยนายสมชัยและคณะ

โดยในวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 5 ฉบับนั้น จะเป็นการรวมพิจารณาและอภิปรายพร้อมกันทั้ง 5 ฉบับ และจะลงมติแยกกันทีละฉบับ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประชุมถึงเวลา 24.00 น. ของทั้งวันที่ 6 และวันที่ 7 กันยายน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ