เพื่อไทย ติงรัฐบาลล้มเหลวแก้ปัญหาน้ำท่วม เสนอแนะ 6 แนวทางบริหารจัดการ

ข่าวการเมือง Wednesday October 19, 2022 13:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวในงานเสวนา "ลุ่มเจ้าพระยา ชี มูล ท่วมขนานใหญ่ เพื่อไทยแก้ได้" ว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลต้องตระหนักว่าเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่สุดในรอบ 50 ปี สร้างความเสียหายคลอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงกระทบประชาชน 10 ล้านคน ขณะนี้หลายพื้นที่ขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เงินที่ใช้จับจ่าย ซึ่งความช่วยเหลือที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ไม่ทันการณ์ ไม่แมนยำ และไม่เพียงพอ น้ำท่วมครั้งนี้ได้เห็นความอับจนในการหาหนทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จนประชาชนรู้สึกสิ้นหวัง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นปัญหา 3 ด้านที่ทำให้น้ำท่วมหนักในตอนนี้ ได้แก่

1.การแจ้งเตือนภัยไม่ชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ทันเวลา แต่ขอชื่นชมการทำงานของกรมอุตุนิยมวิทยาที่แจ้งเตือนพายุและพื้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังขาดการให้ข้อมูลว่าน้ำท่วมมากน้อยแค่ไหน น้ำท่วมสูงเท่าไหร่ ลดลงเมื่อไหร่

2.เมื่อน้ำท่วมต้องอพยพประชาชน แต่การอพยพไปยังแหล่งพักพิงที่รัฐบาลดำเนินการเป็นไปแบบลุกลน ไม่คาดการณ์ให้แม่นยำ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีและพระนครศรีอยุธยาที่ต้องอพยพย้ายที่นอนหลายครั้ง

3.รัฐบาลล้มเหลวในการเลือกยุทธวิธีในการบริหารจัดการสภาวะวิกฤต บุคคลในระดับการบริหารมีความเป็นทหารมากเกินไป เลือกใช้วิธีควบคุมทางไหลของน้ำ (Flood control) ทั้งที่ไม่มีเครื่องมือ เช่น เขื่อน ฝาย คู คลอง เครื่องสูบน้ำ เครื่องดันน้ำ ประกอบกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบสูงกว่าภาคกลาง แทนที่จะใช้วิธีการบรรเทาอุทกภัย (Flood mitigation) บรรเทาผลกระทบที่เกิดจากน้ำที่เข้าท่วมพื้นที่แล้ว

ทั้งนี้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้ ซึ่งรัฐบาลสามารถนำไปใช้ได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน ได้แก่

1.เปลี่ยนแนวคิดการบริหารจัดการสถานการณ์ให้เป็นแนวทางยืดหยุ่น (Reselent approach) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการควรเป็นไปในรูปแบบการที่ต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนให้ได้

2.ยึดแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (Nature base solution) ควรทบทวนผังเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำมากและหลากแรง เช่น จ. ภูเก็ตน้ำท่วมทั้งที่เป็นเกาะ เพราะมีการก่อสร้างห้องแถวติดถนนบนเชิงเขา ถนนจึงกลายเป็นลำน้ำ ส่วนคลองที่ผ่ากลางจังหวัดภูเก็ต ไม่เคยดูแลรักษาหรือขุดลอกจึงเกิดน้ำท่วม เช่นเดียวกับที่ อ.เมือง เชียงใหม่ ควรทบทวนผังเมืองด้วย

3.ทบทวนการปลูกสร้างที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ สิ่งก่อสร้างใหม่ ที่ต้องมั่นคงยั่งยืนรองรับน้ำท่วมสูงขนาดใหญ่ และปริมาณฝนตกมากขึ้น

4.จากนี้ไปด้วยสภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดฝนตกและมีน้ำปริมาณมาก สิ่งก่อสร้าง ที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างไปแล้ว ต้องปกป้องให้ได้ โดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่และพื้นที่เศรษฐกิจ โดยอาจสร้างคันกั้นน้ำในบริเวณที่ลุ่มต่ำ (Polder Model) ซึ่งใช้ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มต่ำ และต่ำกว่าระดับน้ำทะเล สามารถป้องกันบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างไม่ให้ถูกน้ำท่วมได้ โดยสำหรับประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้กับ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีได้

5.หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะค้นคว้าหาพื้นที่บริเวณแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เพื่อสร้างฝายขนาดใหญ่ (Diversion damn) เพื่อควบคุมน้ำ ทำหน้าที่คล้ายเขื่อนชัยนาท เขื่อนพระรามหก จะช่วยชะลอน้ำและใช้ในระบบชลประทานได้

6.หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะปรับแต่งหรือจัดสร้างแก้มลิงในพื้นที่ราบต่ำ บริเวณริมแม่น้ำชีและริมแม่น้ำมูล และอาจทำเขื่อนความสูงไม่เกิน 3 เมตร หรือสูงไม่เกินระดับสูงสุดของแม่น้ำ มีประตูน้ำเข้า และประตูระบายน้ำออกไว้ใช้ในการรับน้ำ

ด้าน น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความโชคร้ายของภาคอีสานปีนี้คือเมื่อเดือนเมษายนยังไม่เข้าฤดูฝน ข้าวเพิ่งลง ต้นเพิ่งงอก แต่พายุนำพาน้ำฝน ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรจมน้ำเสียหาย เมื่อน้ำลดกลับมาปลูกข้าวอีกรอบ ยังไม่ทันโต น้ำท่วมจมรอบที่ 2 ประชาชนเดือดร้อนจากการหารายได้ ทำกินไม่เพียงพอยังต้องมาเจอกับอุทกภัยซ้ำอีก

ขณะที่ นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในอนาคต รัฐบาลหน้าต้องคิดหาแนวทางว่าแม่น้ำเจ้าพระยามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อาจหาแนวทางที่ไม่พึ่งหวังใช้เพียงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียว เพราะคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเข้าพระยามีระดับเพียงแค่ 2.7 เมตร รับน้ำที่ระบายมาได้ไม่เกิน 3,100 ลบ.ม./วินาที หากเกินกว่านี้เหมือนเช่นปี 2554 ที่ระบายน้ำมาถึงเกือบ 4,000 ลบ.ม./วินาที ทั้งนนทบุรีและกรุงเทพจะจมน้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ