รายงานข่าว แจ้งว่า การประชุมวุฒิสภาที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้ลงมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งกรรมธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยเสียงเอกฉันท์ 193 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
โดยผลการพิจารณาของ กมธ.ฯ ได้แก้ไขเนื้อหาที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบจำนวน 1 มาตรา ด้วยการตัดมาตรา 5 ซึ่งเพิ่มมาตรา 43/1 ของร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ที่ให้สิทธิสมาชิกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป มีสิทธิขอรับเงินจากกองทุนไม่เกิน 30% ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนที่บันทึกไว้ในบัญชีรายบุคคลเพื่อใช้จ่าย โดยวัตถุประสงค์เฉพาะแต่ในการจัดหาที่อยู่อาศัยของตนได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
ทั้งนี้ในรายงานของ กมธ.ฯ ได้ระบุถึงเหตุผลการตัดมาตราดังกล่าว เพราะกังวลถึงสภาพคล่องของกองทุนฯ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญฯ (กบข.) กำหนดให้สมาชิกส่งเงินสะสมขั้นต่ำ 3% ของเงินเดือน และรัฐส่งเงินสมทบอีก 3% ของเงินเดือน และเงินชดเชยอีก 2% ของเงินเดือน เพื่อให้ กบข.บริหารให้เกิดดอกผลได้สะสมไว้ในบัญชีรายบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีเงินออมที่เพียงพอเมื่อข้าราชการเกษียณอายุราชการ ดังนั้นการออมดังกล่าวจึงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อีกทั้ง กบข.ไม่มีวัตถุประสงค์และภารกิจโดยตรงในการจัดสรรเงินเพื่อหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก
"เหตุผลที่ต้องตัดมาตรา 5 เพื่อลดปริมาณเงินออม และสูญเสียโอกาสบริหารเงินออม กบข.มีสมาชิก 1.1 ล้านคน มีเงินกองทุนส่วนสมาชิก 464 ล้านบาท มีผลตอบแทนลงทุนเฉลี่ยตั้งแต่ปี 40-65 อยู่ที่ 5.9% หากนำเงิน กบข.ออกมาก่อน 30% เพื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัย จะมีแนวโน้มที่ทำให้สมาชิกได้รับผลตอบแทนที่ลดลง" รายงาน กมธ.ฯ ระบุขณะที่การอภิปรายของ ส.ว.โดย พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. ให้ข้อสังเกตว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ของวุฒิสภา ต้องนำไปสู่การตั้ง กมธ.ร่วมฯ ซึ่งการพิจารณาที่ผ่านมามักถูก ส.ส.เหน็บแนม อภิปรายกล่าวหาโจมตี ส.ว.ว่าดูร่างกฎหมายไม่เป็น ไม่ละเอียด ไม่เห็นหัวประชาชน ทั้งนี้มาตราดังกล่าวที่ถูกเพิ่มเติมมาในชั้นสภาฯ ซึ่งได้รับเสียงเอกฉันท์ ทำให้ ส.ส.ภูมิใจมาก ดังนั้น ส.ว.ควรใส่เหตุผลที่อธิบายได้ทุกแง่มุม
"สมาชิกเป็นหมื่นขอกู้เงินเพื่อสร้างบ้าน กองทุนฯ อาจพร่องสภาพคล่อง ดังนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเขียนรายละเอียดไว้ให้ชัดเจน" พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าวด้านนายพรเพชร กล่าวว่า ตนเคยเป็นสมาชิกกองทุน กบข. และเป็นกรรมการทราบว่ากองทุนฯ นี้มีลักษณะพิเศษ เพราะเงินในกองทุนฯ ไม่ใช่เงินสมาชิกเท่านั้น เพราะมีเงินของรัฐบาลสมทบ การนำเงินเข้าและออกมักจะมีปัญหา ตนเข้าใจว่าการแปรญัตติของสมาชิกต้องการให้เป็นแบบนั้น สมาชิก กบข.อยากได้เงินมาก่อนเหมือนฝากเงิน แต่ กบข.ต้องการให้เงินเมื่อเกษียณอายุแล้ว แต่หากเกษียณอายุแบบไม่สวย จะไม่ได้เงินสมทบ ดังนั้นขอให้ กมธ.ร่วมฯ ไปพิจารณารายละเอียด