ปปช.ยันกรณี"ไชยา"ไม่แจ้งการถือหุ้นภรรยา ยึดรธน.พิจารณา อาจหารือพรุ่งนี้

ข่าวการเมือง Monday April 7, 2008 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายกล้านรงค์ จันทิก หนึ่งในคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยืนยันการพิจารณาของ ป.ป.ช.ผิดหรือไม่ต้องดูรัฐธรรมนูญเป็นหลัก กรณีไม่แจ้งการถือหุ้นเอกชนของภรรยา อาจจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 8 เมษายน ขณะที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข แจงบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาซุกหุ้นภรรยา ลั่นไม่ลาออกจากตำแหน่ง 
นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมกการ ปปช. เปิดเผยถึงกรณี นางจุไร สะสมทรัพย์ ภรรยาของ นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ถือครองหุ้นบริษัทเอกชนเกินกว่า 5% ของทุนจดทะเบียน และอาจขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 182(7) เพราะมีการกระทำ อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 269
"หากทาง รัฐมนตรีต้องการแย้ง โดยอ้างว่าตามคู่มือ ป.ป.ช.ไม่มีการระบุถึงการถือครองหุ้นของภรรยาด้วยนั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ แต่การพิจารณาเรื่องนี้ต้องดูรัฐธรรมนูญเป็นหลักว่าขัดกันหรือไม่อย่างไร"นายกล้าณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช.อาจจะนำเรื่องนี้เข้าหารืออีกครั้ง ในวันพรุ่งนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่สามารถเสนอเรื่องเข้ามาทัน หรือไม่ด้วยเช่นกัน
ด้านนายไชยา กล่าวว่า ตนไม่มีเจตนาปกปิดข้อมูลการถือหุ้นของภรรยา บัญชีรายการทรัพย์สินเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด เมื่อไปดูคู่มือที่ ป.ป.ช.แจกมาก็ไม่มีการระบุถึง สัดส่วนการถือหุ้นของภรรยา ระบุแต่รัฐมนตรีเท่านั้น จึงเข้าใจว่า การแจ้งต่อประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ในเรื่องการจะรับประโยชน์จากการถือหุ้นในบริษัทนั้นต้องแจ้งเฉพาะตัวรัฐมนตรี ไม่รวมถึงภรรยา
ทั้งในกฎหมายก็ไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องแจ้ง แต่เมื่อพบว่าการถือหุ้นดังกล่าวอาจมีปัญหา ตนก็เป็นผู้ที่เร่งทำหนังสือแจ้งต่อประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทันที ในวันที่ 2 เม.ย.ด้วยตัวเอง โดยแจ้งให้ทราบว่า นางจุไร สะสมทรัพย์ ภรรยาซึ่งถือหุ้นบริษัท ทรัพย์ฮกเฮง จำกัด จำนวน 25,000 หุ้น มูลค่า 2,500,000 บาท เท่ากับถือหุ้นร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน ประสงค์จะถือหุ้นและรับประโยชน์จากหุ้นบริษัทดังกล่าวต่อไป ดังนั้นจึงรอผลการพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร
"ส่วนสาเหตุที่ทำให้แจ้งล่าช้า เป็นเพราะช่วงที่เข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข มีปัญหาภาระงานยุ่งมาก ทำให้ไม่ได้ดูแลจัดการด้วยตัวเอง แต่ได้ว่าจ้างให้บริษัทเป็นผู้ดูแลจัดการให้ภายหลังทราบว่าเข้าข่ายมีปัญหา ก็ถือความบริสุทธิ์ใจแจ้งไปยังป.ป.ช.ทันที เพื่อแสดงบัญชีทรัพย์สินตามจริง ถ้าจะปกปิด คงไม่ทำหนังสือแจ้ง ป.ป.ช."นายไชยา กล่าว
แต่หากจะแสดงสปิริตโดยการลาออกหรือไม่ นายไชยา กล่าวว่า ต้องแยกแยะว่า ถ้าเป็นข้อบกพร่อง เช่น เรื่องวุฒิทางการศึกษา ทุจริต ประพฤติมิชอบ อาจเข้าข่ายต้องลาออก เพราะมีการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นเรื่องการถือหุ้นเป็นคนละเรื่อง ไม่น่าจะเป็นปัญหา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ