ส.ว.ชงปลดล็อกวาระนายกฯ อยู่ยาวไม่จำกัด ปัดเอื้อ "บิ๊กตู่"/พปชร.ออกโรงขวาง

ข่าวการเมือง Friday January 13, 2023 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ข้อเสนอจะแก้ไขเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใช้กับทุกพรรคการเมือง เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า ใครจะชนะเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.) บอกว่าจะแลนด์สไลด์ แล้วจะมาบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงว่าพรรคเพื่อไทย คิดจะเป็นฝ่ายค้านตลอดหรืออย่างไร

ส่วนกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ออกมาระบุว่า กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ มีแนวคิดกำลังจะพิจารณาแก้ไขดังกล่าว เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้ครบวาระ 4 ปี นายเสรี กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเพียงข้อศึกษาและข้อเสนอ การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ว่า กมธ.ฯ เสนอแล้วจะแก้ได้เลย เพราะต้องใช้เสียงของทั้ง 2 สภาฯ อย่างน้อยต้องใช้เสียงส.ว. 1 ใน 3 และเสียงส.ส. ฝ่ายค้าน 20%

พร้อมระบุว่า หากมีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ไม่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีได้จริง ใครเป็นรัฐบาลในสมัยเลือกตั้งคราวต่อไป ก็สามารถใช้กติกานี้ได้ หรือจะไปแก้ไขภายหลังก็สามารถทำได้

นายเสรี ระบุว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องของการเสนอประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ซึ่งมีอยู่ 5 หัวข้อใหญ่ โดยหนึ่งในนั้น คือการพัฒนาปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่ามีข้อที่ต้องพัฒนาแก้ไขอย่างไรหรือไม่ ซึ่งเป็นหัวข้อเดิมหลักของการรายงานในสภาฯ อยู่แล้ว สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ คือ สถาบันพระปกเกล้า ที่จะเสนอมาหลายประเด็น แต่ทาง กมธ.ฯ จะพิจารณาว่ามีประเด็นอื่นอีกหรือไม่

เมื่อพิจารณาแล้ว กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ จึงเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ที่รัฐธรรมนูญเดิมก่อนฉบับ พ.ศ.2550 ไม่มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ แต่ปัจจุบันต้องมาดูว่าการกำหนดเวลา 8 ปี ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะบางประเทศยอมรับเสียงประชาชนเป็นผู้กำหนด ดังนั้น ใครจะเป็นนานเท่าไร หรือจะเป็นนานกี่ครั้ง ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปกำหนดไว้ที่ 8 ปี

อนึ่ง กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มาตรา 158 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ตนสนับสนุนประเด็นไม่ควรจำกัดวาระนายกฯ ไว้ที่ 8 ปี หากพล.อ.ประยุทธ์ พ้นวาระ แต่นายกรัฐมนตรีเป็นคนดี ไม่ควรจะจำกัดวาระการทำงาน

"คนดีอยู่เกิน 8 ปี ไม่เป็นไร แต่ถ้าได้นายกฯ ไม่ดี ผมไม่ขอเจาะจงว่า เป็นใคร ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเอง ประเด็นนี้ ส.ว.หลายคนสนับสนุนให้แก้ไข"

ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปแก้ไขและไม่เห็นด้วย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดชัดว่าให้อยู่ 8 ปี ต้องครบ 8 ปี แต่ไม่ใช่เพราะพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจึงไม่เห็นด้วย โดยขอให้ผ่านการเลือกตั้งและได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นก่อน ส.ส.จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หากรัฐธรรมนูญยังไม่ได้การแก้ไขก็ต้องปฏิบัติตามนั้น

เช่นเดียวกับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง และเลขาธิการพรรค พปชร. ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการจะแก้ไขในประเด็นดังกล่าว เพราะจะเป็นการดำเนินการเพื่อบุคคลเพียงคนเดียว

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถาม โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่า "ไม่เกี่ยวกับผม"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ