ปมร้อนสายสีส้ม วราวุธ-เลขากฤษฎีกา เตือนชะลอเข้า ครม.รอศาลตัดสินให้ครบทุกคดีก่อน

ข่าวการเมือง Tuesday March 14, 2023 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกระแสข่าวที่กระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เป็นผู้ชนะการประมูล ว่า เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง 2 คดี รวมถึงมีประเด็นถูกร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย

ดังนั้น หากกระทรวงคมนาคม จะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.จริง ก็ควรต้องชะลอไว้ก่อนจนกว่าศาลปกครองจะมีคำตัดสิน และผ่านกระบวนการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ให้เรียบร้อย

ทั้งนี้ สำหรับจุดยืนของพรรคชาติไทยพัฒนา ย้ำว่าไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แต่เห็นว่าควรชะลอไปก่อน เพื่อรอคำตัดสินของศาล เพราะหากสุดท้ายผลทางคดีออกมาขัดแย้งกับที่ ครม.มีมติไป ก็อาจจะเกิดปัญหาภายหลัง เพราะโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งสังคมจับตาดูอยู่ ดังนั้นขั้นตอนดำเนินการควรต้องมีความชัดเจน

ขณะที่นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่าควรต้องรอการพิจารณาในชั้นศาลปกครองให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม.

"คงรอศาลมั้ง จะไปทำอะไรให้มันเจ็บตัว" นายปกรณ์

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ความเห็นส่วนตัวว่า หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้ามาในวาระจรวันนี้ ตนก็คงจะไม่เห็นด้วย และจะเสนอทั้ง 3 เหตุผลให้กับครม.ได้รับทราบ ซึ่งในส่วนของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่ทราบว่าใครจะคิดอย่างไร แต่ข้อมูลก็ลอยอยู่ในสังคมมากอยู่แล้ว ประเด็นที่ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัย จึงเป็นประเด็นหลักที่สำคัญ และหากมีการเสนอเข้า ครม.เพื่ออนุมัติ ทั้งๆ ที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาว่าการจัดประมูลโดยมิชอบ ครม.ที่อนุมัติ ก็จะมีปัญหาด้านข้อกฎหมายได้

ส่วนกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาเตือนว่า หากครม.ชุดนี้ทิ้งทวนพิจารณาผ่านโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็อาจจะนำไปสู่ความผิด เหมือนขาก้าวเข้าคุกไปข้างหนึ่งแล้วว่า เป็นเรื่องที่ต้องนำมาพิจารณาให้รอบคอบ ครม.ที่มาจากพรรคการเมือง จะต้องฟังเสียงประชาชนส่วนหนึ่งด้วย แต่ถ้ามั่นใจว่าทำถูกต้อง ก็ทำได้ แต่ถ้าคิดว่ามีประเด็นเคลือบแคลงสงสัยและไม่ชัดเจนเรื่องข้อกฎหมาย ก็ไม่ควรลงมติเห็นชอบ และไม่ควรเดินหน้า

"ยืนยันว่าส่วนตัวจะลงมติไม่เห็นด้วย แต่ภาพรวม หากครม.มีมติเห็นชอบ ใครที่เห็นชอบ ก็ไปร่วมรับผิดชอบในทางกฎหมายต่อไป" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ