เลือกตั้ง'66: นโยบายสวัสดิการ "ของใคร แบบไหน โดนใจชาวบ้าน"

ข่าวการเมือง Monday March 20, 2023 19:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

9 พรรคการเมือง ร่วมโชว์วิสัยทัศน์ต่อนโยบายสวัสดิการ ในงานเสวนา นโยบายสวัสดิการ "ของใคร แบบไหน โดนใจชาวบ้าน" 4 องค์กรประชาชน ถาม 9 พรรคตอบ

*พรรคเพื่อไทย

นายสุทิน คลังแสง จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายสวัสดิการเพิ่มเติมให้แก่ประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะหากเทียบเม็ดเงินในการทำสวัสดิการให้ประชาชนกับมูลค่าจีดีพีของประเทศแล้ว ของประเทศไทยที่ 2-3% ต่อจีดีพี ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่อยุ่ในระดับ 5-6% ต่อจีดีพี

อย่างไรก็ดี การทำนโยบายสวัสดิการจะต้องคำนึงถึงฐานะการเงินของประเทศด้วย เพราะหากจะเพิ่มนโยบายสวัสดิการภายใต้งบประมาณรายจ่ายเท่าเดิมในปัจจุบัน อาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากในแต่ละปียังมีงบผูกพันอีกค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาเงินรายได้เข้าประเทศควบคู่กันไปด้วย เพื่อทำให้ GDP ประเทศเติบโตอีกอย่างน้อยปีละ 5% ซึ่งจะทำให้งบประมาณรายจ่ายต่อปีที่ 3 ล้านล้านบาท สามารถเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 4-5 ล้านล้านบาท และมีเพียงพอที่จะนำมาใช้ทำนโยบายสวัสดิการแบบใหม่ที่เจาะกลุ่ม และลงลึกได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

โดย step แรกคือสร้างรายได้ ควบคู่กับการจัดสวัสดิการ คือ ของเดิมที่มีจะไม่ตัด แต่ที่จะเพิ่มใหม่คือ การเพิ่มผูกติดกับการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สร้างรายได้ให้ประเทศ ก้อนแรกคือ ให้ครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ถ้าต่ำกว่านั้นเราเติมให้ เชื่อว่าก้อนนี้จะเติมให้แก่เด็ก ผู้หญิง และคนชรา ก้อนที่สอง คือการเติมเข้ากระเป๋าดิจิทัล

"ก้อนแรกให้ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่น แต่เราไม่ได้แยกว่าเป็นเด็กเท่านั้น คนแก่เท่านี้ หรือคนพิการเท่านั้น เพื่อให้เงินกลับมาเป็นรายได้ของรัฐ เมื่อรัฐรวยขึ้น ก้อนงบประมาณใหญ่ขึ้น เฟส 2 จะให้แบบเจาะกลุ่ม แบบถ้วนหน้า แบบ for all ก็ได้ แต่ตอนนี้มีความจำเป็นต้องให้แบบผูกติดกับงบประมาณที่ต้องโตขึ้นก่อน เราไม่ได้รอรายได้ แต่ต้องคิดเรื่องให้ และเรื่องหาเงินควบคู่กันไปด้วย" นายสุทินกล่าว

*พรรคก้าวไกล

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล เราเป็นพรรคที่เชื่อในระบบสวัสดิการ ที่ไม่ใช่การแจกเงิน แต่เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนโดยถ้วนหน้า โดยพรรคมีสวัสดิการที่จะให้ประชาชนตั้งแต่เริ่มลืมตาดูโลก จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ตั้งแต่สวัสดิการเด็กแรกเกิด สิทธิลาคลอดบุตรให้ทั้งพ่อและแม่ เพิ่มเงินเลี้ยงดูเด็กจากแบบคัดกรองรายได้เป็นแบบถ้วนหน้า, คูปองให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียน, ให้ทุกคนได้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมถ้วนหน้า และเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 3 พันบาท/เดือน รวมทั้งมีระบบดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง และสุดท้ายจะมีค่าทำศพ 10,000 บาทที่รวมอยู่ในระบบสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ต้องการให้ระบบสวัสดิการผูกติดกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้งบประมาณ ดังนั้นมองว่าควรจะปรับลดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็น และเพิ่มการจัดเก็บภาษีในแหล่งใหม่ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ซึ่งจะมาช่วยสร้างรายได้ ไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในการทำนโยบายสวัสดิการ

*พรรคประชาธิปัตย์

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม จากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า ระบบสวัสดิการของไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม ระบบประกันสุขภาพ มีความล้าสมัย เพราะเป็นแนวคิดที่สร้างขึ้นในช่วงสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งมองว่ายังมีช่องให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเข้าสู่สังคมดิจิทัลแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างระบบสวัสดิการสังคมให้เป็นระบบที่ยั่งยืน พร้อมมองว่า ในระยะยาวอย่างน้อย 10 ปี จะต้องปฏิรูประบบการคลัง เพื่อให้ประหยัดรายจ่าย และมีรายได้มาเติมเต็มกองทุนประกันสังคม 2 ล้านล้านบาทที่ลดลง "หลักๆ คือต้องโยกงานที่เกี่ยวกับชราภาพ ไปอยู่กับประกันสังคมทั้งหมด แล้วยกงานด้านสุขภาพ ไปอยู่กับ สปสช. เงินสมทบที่ลูกจ้างจ่ายเข้าประกันสังคม จะให้เก็บไว้ใช้ในยามชรา ไม่ใช่เอามาเก็บไว้ในระบบกลาง " นายพิสิษฐ์ กล่าว โดยหลังจากการปฏิรูปถ้วนหน้าแล้ว ประชาชนจะได้ทั้งสิทธิบัตรทอง รวมกับสิทธิประกันสังคม กล่าวคือ การรักษาพยาบาลฟรีตลอดชีพ และมีบำนาญในยามเกษียณ รวมทั้งมีเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งผู้สูงอายุจะได้รับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมสุงสุด 5,000 บาท นอกเหนือจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการออมโดยสมัครใจที่เป็นหลักในการดำรงชีพยามเกษียณ "ถ้าปฏิรูปสำเร็จ คนไทยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เฉพาะวัยทำงานเท่านั้น แต่วัยเกษียณ ก็จะมีเงินไม่น้อยไปกว่าที่ประกันสังคมจ่ายให้ผู้เกษียณอายุตอนนี้ คือ 5,000 บาท ตอนนี้ มาตรา 40 มีคนมาสมัครมากกว่า 10 ล้านคน แสดงว่าคนตื่นตัวมากที่อยากจะให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล" นายพิสิฐ กล่าว

*พรรคชาติพัฒนากล้า

นายพรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า ชูนโยบายโอกาสนิยม เพื่อคนไทย โดยต้องได้สวัสดิการที่ดีที่สุด คือ งานที่ได้เงินดี มีเงินซื้อของไม่แพง ลดความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น และลดครอบครัวแหว่งกลาง พร้อมมองว่าประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสังคมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมผู้สูงอายุ โดยนโยบายจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ มองว่าเป็นวัยที่มีคุณค่ายังสามารถทำงานได้ จึงจะจัดหาตำแหน่งงานให้อีก 5 แสนตำแหน่ง และได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลเดือนละ 5,000 บาท รวมทั้งเงินสนับสนุนปรับปรุงบ้านอีก 5 หมื่นบาท ให้เหมาะสมแก่ผู้พักอาศัยที่เป็นผู้สูงอายุ เพื่อลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุถึงปีละ 6 ล้านกรณี ตลอดจนสวัสดิการให้แก่เด็ก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี ปีละ 2,000 บาท และเงินสนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กเล็ก

*พรรคไทยสร้างไทย

น.ส. ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย พรรคมีนโยบายที่จะอาสาดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนแก่ ไมว่าจะเป็น 1.สวัสดิการแม่และเด็ก 2.นโยบายเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี 3.กองทุนคนตัวเล็ก เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ลดการเป็นหนี้นอกระบบ และ 4.บำนาญประชาชนอีกเดือนละ 3,000 บาท

*พรรคพลังประชารัฐ

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ จากพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พรรคเล็งเห็นความสำคัญของสวัสดิการ และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างความเท่าเทียม ทั่วถึง ให้ทุกคนเข้าถึงสวัสดิการของรัฐพร้อมหน้า และลดช่องว่างทางสังคมโดยเฉพาะในเรื่องรายได้ โดยพรรคต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ในเรื่องบัตรประชารัฐ 700 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน และการเพิ่มเบี้ยประกันชีวิตให้ผู้ถือบัตรประชารัฐ วงเงิน 2 แสนบาท นอกจากนี้ยังมีนโยบายดูแลประชาชนทุกช่วงวัย รวมถึงให้ความสำคัญของสังคมสูงวัย 12 ล้านคน ด้วยเบี้ยผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไปรับ 3,000 บาท อายุ 70 ปีขึ้นไป รับ 4,000 บาท และอายุ 80 ปีขึ้นไป รับ 5,000 บาท

สำหรับผู้ที่ที่มีรายได้น้อย หรือต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี มีอยู่ 20 ล้านคน ยืนยันว่าจะได้รับสิทธิในบัตรประชารัฐอย่างแน่นอน โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับสิทธิและมีบัตรประชารัฐแล้ว 14 ล้านคน ยังเหลืออีก 6 ล้านคน ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง เปิดให้คนที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้และยังไม่ได้รับการพิจารณายื่นอุทธรณ์เข้ามาได้ ซึ่งหากเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 1 แสนบาทต่อปี ยืนยันว่าจะได้รับสิทธิบัตรประชารัฐอย่างแน่นอน

*พรรครวมไทยสร้างชาติ

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า 69 สิทธิยังอยู่และจะทำต่อ สิ่งที่จะทำใหม่ คือ บัตรสวัสดิการพลัส เพิ่มสิทธิเป็น 1,000 บาท/เดือน และได้สิทธิกู้ฉุกเฉิน 1 หมื่นบาท , ปลดหนี้ด้วยงาน, กองทุนฉุกเฉินประชาชน 3 หมื่นล้านบาท และคืน 30% ของเงินสะสมชราภาพให้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 โดยไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 60 ปี รวมทั้งการรื้อกฎหมายที่รังแกประชาชน และเป็นอุปสรรคในการทำมาหากิน

*พรรคภูมิใจไทย

นางอนุสรี ทับสุวรรณ จากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จากหลายวิกฤติทีทำให้หลายคนเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศต้องมีหนี้ นโยบายแรกของพรรคคือ พักหนี้ก่อน 3 ปี ด้วยการหยุดเงินต้น และพักดอกเบี้ย ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้สามารถทำมาหากินในระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยไม่ต้องกังวลกับการนำเงินไปชำระหนี้ นอกจากนี้ พรรคยังมีนโยบายรักษามะเร็งฟรี ฟอกไตฟรี

"จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ รัฐบาลได้เงินภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินที่ใช้ จะเอามาจากการขายพันธบัตรให้คนที่มีเงินออม ไม่ได้ผลกระทบจากโควิด ให้ดอกเบี้ย 2.5-3% รวมทั้งลดรายจ่าย ราคาน้ำมัน เข้าโครงการหลังคาโซลาเซล หลังคาทุกหลังคามีค่า ได้ลดค่าไฟ 450 บาท/เดือน" นางอนุสรี กล่าว

*พรรคชาติไทยพัฒนา

นายอุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการเปลี่ยนประเทศไทย ผ่านนโยบาย Wow thailand ซึ่งประกอบด้วย Wealth การสร้างความมั่งคั่ง Opportunity การสร้างโอกาส Welfare สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อทุกคน สวัสดิการของพรรคจะเริ่มจากครอบครัวที่อบอุ่น ให้ค่าคลอดบุตร 5 พันบาท และมีค่าเลี้ยงดูบุตรปีละ 1 หมื่นบาท อีก 10 ปี มีนโยบายด้านสุขภาพที่ชัดเจน คือ ถ้าไม่ป่วยเลย จะมีเงินคืน 3 พันบาท หรือสุขภาพดี มีเงินคืน 3 พันบาท

*4 องค์กรภาคประชาชน

นางสุนีย์ ไชยรส ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน พบว่า ช่องโหว่ของสวัสดิการที่พบมากที่สุด จะอยู่ในกลุ่มของเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี พร้อมย้ำว่าองค์กรเด็กทั่วประเทศไม่ได้ต้องการแบมือขอเงิน เพียงแต่เห็นว่าเป็นสิทธิของเด็ก เป็นสวัสดิการของเด็กที่ควรจะได้รับการดูแลอย่างถ้วนหน้า ไม่ควรจะต้องมาตรวจสอบความยากจนถึงจะได้รับสิทธิ

"ถามว่าทำไมต้องตรวจสอบ ผู้สูงอายุ ยังไม่ต้องตรวจสอบ บัตรทองไม่ตรวจสอบ แต่มาตรวจสอบอยู่กลุ่มเดียว ว่าต้องเป็นเด็กยากจน เราต้องการสิทธิและสวัสดิการของเด็กเล็กถ้วนหน้า เราไม่ต้องการแบมือขอ เราไม่ต้องการให้มาบอกว่าไม่มีเงิน เรารอมา 9 ปีแล้ว บอกแต่ว่าไม่มีเงิน โจทย์นี้ท้าทายมาก ถ้าพรรคการเมือง ยังยืนยันว่าต้องรอให้มีเงิน ถือเป็นการเดินทางผิด เพราะเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ และจำเป็น" นางสุนีย์ ระบุ
น.ส. สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ SWING กล่าวว่า ที่ผ่านมา การดูแลคนในสังคมยังตกหล่น เช่น แรงงานในภาคบริการ คนไร้บ้าน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมที่ควรจะได้รับในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน นอกจากนี้ การให้สวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่ผ่านมา มักเป็นในรูปของเงินสงเคราะห์ แต่เราอยากเห็นมุมที่คนเหล่านี้ควรจะได้รับในสิ่งที่เป็นสิทธิที่ควรจะได้รับมากกว่า
พร้อมกันนี้ ยังต้องการเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในกลุ่มที่อยู่ในภาคบริการอีกราว 2 แสนคน จะทำอย่างไร ให้เข้าถึงรัฐสวัสดิการ มีสถานะเป็นแรงงาน และได้รับการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้เข้าประเทศโดยตรง แต่ที่ผ่านมา กลับไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐรายละ 5,000 บาท เหมือนเช่นประชาชนกลุ่มอื่นทั้งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดเช่นเดียวกัน
"อยากเห็นว่า นโยบายด้านสวัสดิการจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร ไม่ใช่แค่โปรโมทอยู่ในนโยบายหาเสียง อยากให้เป็นสวัสดิการที่ยั่งยืน เป็นจริง และตอบสนอง ครอบคลุมทุกคนที่เป็นคนเหมือนกัน" น.ส.สุรางค์ กล่าว
นอกจากนี้ ต้องการเสนอให้แก้ไขหรือยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ซึ่งผู้ค้าบริการหลายแสนคนถูกทำให้เป็นอาชีพผิด ทั้งนี้ เพื่อให้แรงงานดังกล่าวได้เข้ามาอยุ่ในระบบ ได้รับสิทธิคุ้มครองจากรัฐในฐานะที่เป็นประชาชน
นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้แทนองค์กร We Fair กล่าวว่า สถานการณ์สำคัญของประเทศในตอนนี้ คือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่ใช่แค่มิติเชิงรายได้ แต่เป็นมิติในเชิงสิทธิและโอกาส โจทย์สำคัญคือการลดความเหลื่อมล้ำ ยากจน เปราะบาง เรามีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก คนที่มีรายได้ต่างกันมาก มีปัญหาความยากจนข้ามรุ่น
ทั้งนี้ สวัสดิการสังคมช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สวัสดิการประชาชนทุกนโยบาย รวมแล้วคิดเป็น 14% ของงบรายจ่าย ใช้งบประมาณ 450,000 ล้าบาท ในขณะที่สวัสดิการของข้าราชการ ใช้งบ 490,000 ล้านบาท คิดเป็น 15% และถ้ารวมกับเงินเดือนของข้าราชการอีกจะเป็น 25% ของงบรายจ่าย เราจะพ้นจากความเหลื่อมล้ำในส่วนนี้ได้อย่างไร
น.ส.อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า ต้องการโฟกัสไปที่กลุ่มคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และคนที่ป่วยทางจิต ซึ่งคนที่ออกมาอยู่ข้างถนนเหล่านี้ เป็นปลายปัญหาของระบบสวัสดิการ เราอยากเห็นสิ่งที่ไม่ใช่การสงเคราะห์ นอกจากนี้ ในส่วนของการดูแลผู้สูงอายุนั้น ต้องการจะสถานดูแลผู้สูงอายุที่เป็นของรัฐบาล เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในปัจจุบันสถานดูแลผู้สูงอายุของเอกชน จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2 หมื่นบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ