เลือกตั้ง'66: พปชร. ลั่นไม่จับมือ "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ยันไม่มีดีลลับ

ข่าวการเมือง Monday April 10, 2023 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลือกตั้ง'66: พปชร. ลั่นไม่จับมือ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรคกรณีปรากฎเป็นข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐ จะไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกลว่า ขอถือโอกาสนี้แถลงอย่างเป็นทางการว่าเราไม่ร่วมด้วยกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล แต่เราต้องการสร้าง พปชร.ให้เป็นพรรคที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชน เป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ในจุดยืนที่ประชาชนยึดมั่น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้พรรคเป็นที่พึ่งของประชาชนในการขจัดความยากจน

"การที่บางพรรคไปกล่าวอ้างต่างๆ นานา หรือมีกระแสข่าวแพร่ออกไป จนกระทั่งเป็นความเข้าใจผิดว่าพรรคเรามีดีลร่วมกับพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล ขอแถลงในวันนี้ว่าไม่จริง และเราไม่ประสงค์ที่จะร่วมมือใดๆ เราต้องการเป็นพรรคการเมืองที่มีอิสระ มีเอกภาพในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้ได้อย่างสมบูรณ์" นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ การประกาศที่จะไม่จับมือกับ 2 พรรคการเมืองดังกล่าวนั้น ได้คุยกับทางผู้ใหญ่ของพรรคแล้ว จึงขอให้เกิดความชัดเจนในส่วนนี้ เหตุผลเพราะมีนโยบายที่เรารับไม่ได้หลายเรื่อง เป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ไปสร้างความรุนแรงหรือความขัดแย้งใดๆ

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล อยู่ในโพลอันดับต้นๆ มาตลอด การแถลงเช่นนี้จะถือเป็นการตัดโอกาสในการร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ย้ำว่าเห็นนโยบายทั้ง 2 พรรคแล้วไม่สบายใจ ดังนั้น ไม่สบายใจจึงไม่ร่วม ขอให้ประเด็นเหล่านี้อยู่ในชั้นนี้ก่อน เมื่อถามว่า การแถลงเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. รับทราบหรือไม่ นายไพบูลย์ เลี่ยงไปตอบว่า "ผมรับผิดชอบคำพูดผม"

พร้อมกันนี้ นายไพบูลย์ ยังแสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่พรรคเพื่อไทย มีนโยบายให้เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แก่ประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปว่า จะทำให้เกิดปัญหาในข้างหน้า ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณา เพราะการเสนอในลักษณะดังกล่าวเมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง ต้องมีกฎหมายรองรับ แต่ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ จะต้องนำเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา

ทั้งนี้ กระบวนการที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้ จะต้องเสนอกฎหมายในสภา ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการต่อต้านในสภาอย่างมาก ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และเชื่อว่าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วย กฎหมายนี้จะถูกยับยั้ง หรือหากผ่านไปเรื่องก็จะถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็คิดว่าศาลจะจะพิจารณาว่าไม่สามารถดำเนินการได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ