เลือกตั้ง'66: "เรืองไกร" ร้องเพิ่มกกต. สอบสถานะหัวหน้าพรรค "พิธา"

ข่าวการเมือง Tuesday May 16, 2023 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เข้าข่ายพ้นจากสมาชิกพรรค และหัวหน้าพรรค จากกรณีการถือครองหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี (ITV) เพราะเป็นหนึ่งในคุณสมบัติต้องห้าม

ทั้งนี้ ข้อบังคับของพรรคก้าวไกลที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่นายพิธาแสดงตนเป็นสมาชิกพรรค ในข้อ 12 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิลงรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาเป็นสมาชิกพรรค ข้อ 21 กำหนดการสิ้นสมาชิกว่า เมื่อขาดคุณสมบัติตามข้อ 11 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 12 ส่วนข้อ 37 ได้บอกว่ากรรมการบริหารพรรคจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อพ้นจากสมาชิกภาพ ดังนั้นข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 12 (6) จึงรวมถึงลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ทุกอนุมาตรา และใน (3) กำหนดว่า คนที่ถือครองหุ้นสื่อใดๆ เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัคร

นายเรืองไกร กล่าวว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้มีเหตุต้องร้องต่อ กกต.เพื่อให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า นายพิธา จะเข้าข่ายต้องพ้นจากสมาชิกพรรค และหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่

ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลแต่งตั้งหรือยินยอมให้นายพิธา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคโดยรู้ หรือควรรู้ว่า นายพิธามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 112 วรรคสองหรือไม่ ขณะที่กรรมการบริหารอื่นของพรรคที่ร่วมรับรู้หรือสนับสนุนให้นายพิธา ยังคงเป็นสมาชิกและหัวหน้าพรรค จะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หรือ มาตรา 86 ด้วยหรือไม่ ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของพรรคก้าวไกลทุกคนที่ยินยอมหรือยอมรับให้นายพิธา ใช้สถานะของหัวหน้าพรรคลงนามรับรองให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ จะเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบเพิ่มเติมในเรื่องนี้

นายเรืองไกร กล่าวว่า สาเหตุที่ตนยังไม่กล่าวหาว่า นายพิธา แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อ กกต.หรือไม่ เนื่องจากไม่มีสถานะตามข้อบังคับของพรรค ซึ่งเป็นประเด็นที่ กกต.ต้องวินิจฉัยก่อน ทั้งนี้ การถือหุ้นไอทีวีเดิมเมื่อปี 2549 เป็นชื่อของบิดา ก่อนมาปรากฏเป็นชื่อของนายพิธาเมื่อปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตนได้รวบรวมหลักฐานเตรียมยื่นต่อ กกต.แล้ว โดยพบว่าเลขหุ้นมีการเคลื่อนไหว เนื่องจากยังมีการดำเนินกิจกรรมอยู่ สัดส่วนของผู้ถือหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงไป-มา แต่หุ้นของนายพิธา ยังมีอยู่เท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเมื่อเป็นคำร้องแล้วก็ให้พรรคก้าวไกล และนายพิธาไปยื่นแก้ข้อกล่าวหาตามขั้นตอน คนตัดสินคือกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง ณ วันนี้คิดว่าต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกรณีการถือหุ้นสื่อของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รอดหรือไม่รอดขึ้นอยู่กับการต่อสู้คดีของนายพิธา และการตัดสินของศาล

"การพิจารณาพิพากษาตัดสินคดี ศาลท่านมีหลัก มีวิธีพิจารณา ก็รอผล ซึ่งผมอาจจะผิด คุณพิธาอาจจะรอดก็ได้ ถ้ารอดก็ได้เป็นนายกฯ อาจจะได้เป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรีตามที่คุณพิธา คาดหวัง ซึ่งผมก็อยากดูบทบาทการทำหน้าที่ของเขา นโยบายดีๆ ของเขา จะทำอย่างไรเกี่ยวกับงบประมาณ การดูแลงบทุกส่วนราชการ หรืองบเกี่ยวกับเบื้องบนที่เคยติงมา 3-4 ปี ถึงเวลาจะดำเนินการอย่างไร ผมอยากเห็นคนรุ่นใหม่เป็นนายกฯ แต่นายกฯ ต้องสง่างาม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขอให้ตรงไปตรงมา แม้ฝันอยากไปเป็นเลขาฯ ยูเอ็น ก็ขอให้คุณพิธาบอกพี่น้องประชาชนอย่างตรงไปตรงมา" นายเรื่องไกร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ