เปิดหลักฐานใหม่! "เรืองไกร" ชี้ ITV ยังเข้าข่ายสื่อแม้ไม่ออกอากาศ ยกเคส "ธนาธร" พ้นส.ส.

ข่าวการเมือง Monday June 12, 2023 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดหลักฐานการโอนหุ้น บมจ.ไอทีวี (ITV) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล โดยเป็นหลักฐานจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุนายพิธา โอนหุ้นจำนวน 42,000 หุ้นให้กับนายภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นน้องชาย ในวันที่ 25 พ.ค. 66 รวมถึงเปิดงบการเงินฉบับย่อของ บมจ.ไอทีวี และบริษัทย่อย ที่ระบุว่าวันที่ 24 ก.พ.66 มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 28 เม.ย.66 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

นายเรืองไกร กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ เพื่อเตือนความจำนายพิธา และพรรคก้าวไกล ที่ตอบว่าจำไม่ได้ว่าโอนหุ้นไปเมื่อไร ส่วนเอกสารงบการเงินฉบับย่อที่ตนนำมาเปิดเผย เป็นการบ่งชี้ว่าบริษัทมีการดำเนินธุรกิจสื่อ

"เอกสารสำคัญที่ควรจะดู ก็คือหมายเหตุประกอบงบการเงิน ไม่ใช่คำถามท้ายรายงานการประชุม ที่มีการนำออกมาเผยแพร่กันในขณะนี้ โดยหมายเหตุข้อ 10 ซึ่งออก ณ วันที่ 31 มี.ค. 66 ระบุว่า 24 ก.พ.66 เขาทำธุรกิจสื่อแล้ว ตามที่เขาอธิบายเป็นสื่อมวลชน ไม่ได้กลับมาทำสถานีไอทีวีแล้ว เขาทำสื่ออื่นแล้ว" นายเรืองไกร กล่าว

พร้อมระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) กำหนดเพียงห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งกรณีนี้ เข้าลักษณะของสื่อมวลชนใดๆ และการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตีตก 3 คำร้องถือหุ้นสื่อของนายพิธา ก็ไม่เป็นไร เพราะเมื่อกกต.ประกาศรับรองผล ส.ส. นายพิธา มีสถานะเป็นส.ส.แล้ว ตนก็จะยื่นร้องใหม่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งยิ่งจะเป็นผลดี เพราะเรื่องจะไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีความแน่นอนกว่าการไปศาลฎีกา

เมื่อถามว่าข้อมูลที่นำมาเปิดเผยในขณะนี้ เหมือนต้องการชี้ว่า บมจ.ไอทีวี ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่เกี่ยว การจะทำสื่อหรือไม่ จะต้องดูที่รายได้ ดูวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งศาลก็ไม่ได้ดูที่รายงานผู้ถือหุ้นที่มีการถามตอบกัน

ส่วนที่ระบุว่าศาลปกครองสูงสุด เคยมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2556 ว่า บมจ.ไอทีวี ปิดไปแล้ว ไม่ปรากฎหลักฐานการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์นั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการที่นายพิธา ถือหุ้นแล้วไม่ผิด เพราะกฎหมายห้ามผู้สมัครไม่ให้ถือหุ้นสื่อ ซึ่งนายพิธา ก็มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น โดยไม่ได้มีการระบุท้ายการถือหุ้นว่าเป็นผู้จัดการมรดก และหมายเหตุงบการเงินปี 2566 ของไอทีวีก็ระบุว่าบริษัททำสื่อมวลชนแขนงอื่น นอกจากสถานีไอทีวีแล้ว เมื่อวันที่ 24 ก.พ.66 และจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ