ปชป.องค์ประชุมล่มซ้ำสอง "ชวน"แนะหาคนกลางเคลียร์ปมขัดแย้ง

ข่าวการเมือง Sunday August 6, 2023 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) วันนี้มีสมาชิกเดินทางมาร่วมประชุมบางตา แต่บรรยากาศเริ่มคึกคักเมื่อใกล้เปิดประชุมในเวลา 09.30 น. โดยมีแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค และอดีตหัวหน้าพรรคทั้ง 3 คน คือ นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งแกนนำพรรค สส., อดีต สส.และสาขาพรรค ที่เป็นองค์ประชุม โดยมีการกล่าวทักทายและพูดคุยกันอย่างปกติ และเชื่อว่าการประชุมในวันนี้น่าจะดำเนินไปได้อย่างปกติ แต่เมื่อถึงกำหนดเริ่มประชุม น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรค ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีองค์ประชุม 223 คน ถือว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะตามข้อบังคับพรรคจะต้องมีองค์ประชุม 250 คนขึ้นไป ดังนั้นขอให้รอสมาชิกที่กำลังเดินทางมา ทำให้นายเฉลิมชัยมีสีหน้าเคร่งเครียด และเดินเข้าออกห้องประชุมตลอดเวลา พร้อมแจ้งกับสื่อมวลชนว่า "อย่าไปไหน เพราะจะมีแถลงข่าวใหญ่เร็วๆ นี้"

ต่อมาเวลา 10.36 น. น.ต.สุธรรม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าหลังจากรอสมาชิกมาเป็นเวลา 1 ชั่วโมงแล้ว แต่มีสมาชิกมาร่วมประชุม 223 คนถือว่าไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ จึงขออนุญาตนำเรื่องนี้ไปหารือกับรักษาการกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาวันเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องขออภัยสมาชิกทุกท่านด้วย จากนั้นสมาชิกส่วนหนึ่งได้แยกย้ายกันเดินทางกลับ ขณะที่บางส่วนยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงการประชุมล่มกันอย่างเคร่งเครียด

ขณะที่นายเฉลิมชัย และ สส.จำนวน 21 คน จากทั้งหมด 25 คน ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงสาเหตุการประชุมพรรคล่มเป็นครั้งที่ 2 ว่า การที่องค์ประชุมไม่ครบทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้ทั้ง 2 ครั้งนั้น ซึ่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เกิดจากพฤติกรรมของกลุ่มคนบางกลุ่มในพรรคเอง ตนจึงอยากขอโทษสมาชิกพรรคที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น

"มีการให้องค์ประชุมออกจากห้องประชุม มีการให้องค์ประชุมไม่ลงชื่อในการประชุม มีการให้องค์ประชุมไปเที่ยวประเทศลาวไม่ต้องมาประชุม ซึ่งผมถือว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เลวทรามมาก มันไม่ควรจะเกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นสถาบันทางการเมือง ผมอยากจะฝากอีกครั้ง ให้ช่วยปลุกจิตสำนึกในพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่าเขารู้ว่าเขาทำพฤติกรรมอะไรกันอยู่ ขอให้มีจิตสำนึกรักพรรคประชาธิปัตย์สักนิด ผมเชื่อว่าถ้าจิตสำนึกกลับคืนมา ประชาธิปัตย์จะเดินไปข้างหน้าได้ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีระเบียบ ข้อบังคับ เราไม่สามารถทำอะไรโดยส่วนตัวได้ ประชาธิปัตย์มีกฎข้อบังคับ แต่วันนี้คนในพรรคมาฉีกข้อบังคับเสียเอง มันเป็นสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่า จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสื่อมถอย" นายเฉลิมชัย กล่าว

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในฐานะรักษาการเลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค รวมถึง สส. และสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนี้ นอกจากจะขอประณามพฤติกรรมของคนบางกลุ่มแล้ว ยังขอเรียกร้องไปยังทุกกลุ่มด้วยว่า หากมีจิตสำนึกเพียงพอ ก็จะต้องมาช่วยกันทำให้พรรคประชาธิปัตย์เดินไปข้างหน้าได้ ไม่ใช่มาเล่นเกมการเมือง เพื่อหวังตอบสนองความต้องการของใครบางคน ถ้าคิดว่าประชาธิปัตย์ไม่มีเจ้าของ ก็ต้องทำให้เหมือนที่พูด

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปต้องมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และหารือกับเลขาธิการพรรคเพื่อกำหนดวันประชุมใหม่ เพราะตามข้อบังคับและกฎหมายกำหนดให้องค์ประชุมต้องมี 250 คน ส่วนต้องหารือนอกรอบเพื่อให้ครบองค์ประชุมหรือไม่นั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของพรรค แม้จะอยู่ในช่วงรักษาการ แต่กรรมการบริหารพรรคยังมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจการโหวตมติต่างๆ ในสภา

นายจุรินทร์ เชื่อว่า การประชุมใหญ่ของพรรคไม่น่าจะมีปัญหา เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อบังคับของพรรค และเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามนี้ก็จะกลายเป็นว่าการประชุมจะเป็นไปโดยไม่ชอบ และที่การประชุมครั้งนี้จำเป็นต้องลงไปก็ต้องนัดประชุมใหม่ ส่วนการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการต้องทำหน้าที่ไปก่อนร่วมกับที่ประชุม สส. ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ ไม่ใช่เดินหน้าไปไม่ได้

ขณะที่นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ในทางปฏิบัติต้องมีการนัดประชุมต่อ ซึ่งแล้วแต่จะมีการนัดประชุมกันเมื่อไร แต่ขอเรียนว่าแม้จะยังไม่มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมยังรักษาการอยู่ ยังทำหน้าที่เต็ม ยังสามารถตัดสินใจได้อยู่ทุกอย่าง เช่น ตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันเขาสามารถทำได้ โดยต้องหารือกัน

"ถ้าต่างคนต่างอยู่ ไม่หารือกันก็เลื่อนลอย อย่าไปปล่อยให้คนใดคนหนึ่งไปทำอะไรด้วยตัวเอง มันเสียหายต่อภาพพจน์พรรค ที่พรรคเป็นสถาบันมาได้ไม่ใช่เพราะอยู่นานอย่างเดียว แต่ต้องรักษาหลักการด้วย ฉะนั้นการตัดสินใจจะทำอะไรต้องประกอบไปด้วยกรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ เป็นมติว่าอะไรเป็นอย่างไร ถึงจะเลื่อนประชุมออกไปก็ตามแต่ กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันก็ต้องทำงาน" นายชวน กล่าว

สำหรับการตัดสินใจเรื่องการร่วมรัฐบาลนั้นกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันสามารถตัดสินใจได้ ขอเตือนว่าอะไรที่สมาชิกไปทำส่วนตัว ต้องไม่กระทบต่อพรรค อะไรที่เป็นนโยบายที่ต้องทำเพื่อมติพรรค ต้องให้พรรคให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่ไปหารือส่วนตัวอย่างนี้ไม่ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นดูเหมือนเป็นความขัดแย้งของ 2 ขั้วในการเลือกหัวหน้าพรรคนั้นกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการควรจะคุยกัน ส่วนที่สมาชิกพรรคเห็นอย่างหนึ่ง สส.ปัจจุบันเห็นอย่างหนึ่งก็ไม่เป็นไร เพราะมติพรรคออกมาแล้วก็จบ และมติเป็นอย่างไร กรรมการบริหารพรรคก็ต้องรับผิดชอบ

ส่วนกระแสข่าวพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลนั้น เรื่องนี้ยังมาไม่ถึง เพราะยังไม่มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี แต่ที่พูดกันไปเพราะมีข่าวว่ามีคนไปพบคนนั้นคนนี้ มีการแบ่งเอากระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ตนก็ถามในที่ประชุม สส.สัปดาห์ที่ผ่านมาว่าจริงหรือไม่ และมีหรือไม่ที่แบ่งกระทรวงกันแล้ว เขาก็ปฏิเสธกัน ฉะนั้นหลักมันมีอยู่ สิ่งที่หัวหน้าพรรคและโฆษกพรรคได้ชี้แจงคือ หลักจริงๆ และคนใดคนหนึ่งที่ไปทำด้วยตัวเอง ถือเป็นเรื่องส่วนตัวของคนนั้น แต่อะไรที่จะผูกพันพรรคต้องเป็นมติพรรค และคนใดคนหนึ่งก็ไม่ควรจะไปทำอะไรนอกเหนือจากมติพรรค

กรณีที่นายเฉลิมชัยไม่พอใจที่เกิดปัญหาองค์ประชุมล่มนั้น ตนไม่รู้เพราะก็มาประชุมตามปกติ แต่ถึงอย่างไรการประชุมก็ต้องมี ไม่สามารถบอกว่าประชุมล่มแล้วต้องเลิกประชุมไปเลย เพราะต้องนัดประชุมต่อไป ตนคิดว่าผู้ใหญ่ต้องพูดคุยกันเพื่อให้ได้ผลออกมาว่า พรรคอยู่ได้ด้วยความรับผิดชอบของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งกรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบายของพรรค ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ เพราะทุกคนต้องคุยกัน

รายงานข่าว แจ้งว่า ช่วงระหว่างรอสมาชิกพรรคให้ครบองค์ประชุม นายเฉลิมชัยได้เดินมาคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สั้นๆ ว่า จะนัดทานข้าวเพื่อพูดคุยปรับความเข้าใจกัน แต่ยังไม่ได้ระบุวันและเวลาที่ชัดเจน

นายนราพัฒน์ แก้วทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคเหนือ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของสมาชิก ตนอยากเรียกร้องให้สมาชิกพรรคคิดถึงพรรค และรักพรรคให้มากๆ การทำลายองค์ประชุม และการไม่มาร่วมประชุม ทั้งที่เป็นหน้าที่แต่ไม่มา และทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้การประชุมล่ม ให้สังคมมองว่าพวกเรามีปัญหากัน คิดว่าจะทำให้พรรคแย่ลงไป จึงอยากเรียกร้องให้มาใช้สิทธิและหน้าที่ของตัวเอง

"ท่านรักใครชอบใคร สนับสนุนใคร เป็นสิทธิหน้าที่ของท่าน ในการจัดประชุมใหญ่ แต่การรักษาองค์ประชุมในการจัดประชุมใหญ่ ไม่ใช่จัดกันง่ายๆ ทุกครั้งมีค่าใช้จ่ายในการจัด เพื่อให้สมาชิกมาประชุมร่วมกันให้ครบ" นายนราพัฒน์ กล่าว

นายสาธิต ปิตุเตชะ รักษาการรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคกลาง กล่าวก่อนการประชุมว่า ส่วนตัวมองว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค มีความเหมาะสมในสถานการณ์นี้ และตนจะเป็นผู้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์อีกครั้ง

ส่วนเรื่ององค์ประชุม ยอมรับว่ายังมีปัญหาเพราะเกิดข้อถกเถียงเรื่องสัดส่วนเสียงโหวต 70/30 ที่ยังมีปัญหาอยู่โดยส่วนตัวมองว่าข้อบังคับพรรค ที่ให้น้ำหนักการโหวตของ สส. 70% และสมาชิกพรรค 30% เป็นกรณีที่ยังไม่มีการแก้ไขเนื่องจากที่ผ่านมาพรรคมี สส. 50-100 ที่นั่งขึ้นไป แต่ครั้งนี้พรรคได้ สส.เพียง 25 ที่นั่ง จึงต้องมาหารือกันในชั้นต่อไป ซึ่งในช่วงเช้าวันนี้หากตนมีโอกาสจะเสนอญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้ สส. และสมาชิกพรรค มีน้ำหนักในการโหวตเท่ากันคือ หนึ่งต่อหนึ่ง

นายสาธิต กล่าวว่า แม้นายvภิสิทธิ์จะได้รับการการโหวตเป็นหัวหน้าพรรคในวันนี้หรือไม่ กลุ่มของตนก็มีจุดยืนว่าจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ขอทำพื้นที่ตัวเองให้ดีและเสนอตัวใหม่อีกครั้งในโอกาสต่อไป นายอภิสิทธิ์เหมาะกับการเป็นหัวหน้าพรรคในสถานการณ์นี้และเชื่อว่าจะนำพาพรรคกลับไปสู่ที่เดิมได้ ส่วนจะเป็นสถานการณ์ไหนทั้งตนและนายอภิสิทธิ์ก็ขอยืนยันจุดเดิมว่า จะไม่ร่วมกับรัฐบาลที่ยุ่งเหยิง

ส่วนการส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 3 จังหวัดระยองนั้นจะพิจารณาบุคคลที่มีคุณสมบัติและเป็นคนดีตามที่ประชาชนต้องการ ซึ่งน่าจะส่งผู้สมัครคนเดิม ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติพร้อม แต่ต้องไปดูเงื่อนไขในพื้นที่และคะแนนดิบที่ผ่านมาว่าจะนำมาบริหารจัดการอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ