กางไทม์ไลน์ประชามติแก้รธน. คาดได้ข้อสรุปเสนอเข้าสภาฯ ก่อนสิ้นปีนี้

ข่าวการเมือง Sunday December 10, 2023 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิกร จำนง ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กล่าวถึงการรวบรวมความเห็น ในการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญว่า ได้รวบรวมความเห็นที่สำคัญของพรรคการเมืองมาหมดแล้ว ยังเหลือการรับฟังความคิดเห็นที่สำคัญ คือ สมาชิกรัฐสภา โดยมี

วันที่ 13-14 ธ.ค. จะรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร

วันที่ 18-19 ธ.ค. ส่วนวุฒิสภา จะรับฟังความเห็น

วันที่ 20 ธ.ค. จะนำความเห็นไปวิเคราะห์

วันที่ 22 ธ.ค. จะมีการนัดคณะอนุกรรมการฯ เพื่อสรุปเป็นรายงาน

วันที่ 25 ธ.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีการนัดประชุมคณะคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป แล้วหลังจากนั้น ในช่วงสิ้นปี จะนำเสนอสู่สภาฯ

ส่วนกรณี่ที่มีการทำหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แม้ กกต. จะแสดงความเห็นต่อกรรมการแล้ว แต่ยังอยากได้มติจากบอร์ด กกต. รวมถึงอยากได้ความเห็นอื่น เช่น สามารถดำเนินการทำประชามติร่วมกับการเลือกตั้งอื่นๆ ได้หรือไม่ ยอมรับว่าเรื่องการทำประชามติเป็นปัญหาอยู่จริง

นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้ ตนได้เชิญคณะกรรมการ 10 กว่าคน ไปสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เพราะประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการทำประชามติ เพื่อสอบถามถึงการทำประชามติโดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเยอะ ทำอย่างไร เนื่องจากการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายปฏิรูป ซึ่งการแก้ลักษณะดังกล่าว จะต้องเสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น

นายนิกร ยืนยันว่า การทำประชามติจะไม่ช้า เพราะใช้รัฐสภาประชุมร่วม จะไม่ใช้ช่องทางกฎหมายธรรมดา ที่ส่งไปสภาฯ ก่อน แล้วค่อยส่งไปวุฒิสภา

ด้านน.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการพยายามหาฉันทามติเพื่อให้การดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ไม่สะดุด ทำให้กระบวนการเป็นไปตามขั้นตอนเร็วที่สุด และทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เร็วที่สุด ไม่ได้เป็นการซื้อเวลา โดยขณะนี้คณะกรรมการฯ ได้รับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังเตรียมการเปิดเวทีให้มีการพูดคุยกันเพื่อให้รู้ทิศทางทั้ง 2 สภาว่าจะมีความเห็นอย่างไร เพราะถือเป็นผู้พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย รัฐบาลยังขอยืนยันว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมครั้งนี้ผ่านไปให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ