"พิธา" รอด!! ศาล รธน.มีมติ 8 ต่อ 1 สมาชิกภาพ สส.ไม่สิ้นสุด เหตุ ITV ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ

ข่าวการเมือง Wednesday January 24, 2024 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ สส. จากกรณีถือหุ้น บมจ.ไอทีวี (ITV) เนื่องจาก ITV ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อ ณ วันที่นายพิธา ลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ นายพิธา ยังเป็นผู้ถือหุ้นใน ITV แต่ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนรับฟังได้ว่า ITV ไม่ได้ประกอบกิจการหรือมีรายได้จากกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด นายพิธาจึงไม่ใช่ผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามมาตรา 98 (3) สมาชิกภาพของ สส.ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 1 คนที่เห็นแย้ง คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า สมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ศาลฯ ระบุว่าข้อเท็จจริงในทางไต่สวนกรณีนายพิธาถือหุ้น ITV หรือไม่นั้น รับฟังได้ว่า ขณะที่นายพิธายื่นใบสมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ 4 เม.ย.66 ยังเป็นผู้ถือหุ้น บมจ.ไอทีวี ลำดับที่ 7061 จำนวน 42,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.00348% ของหุ้นทั้งหมด 1,206 ล้านหุ้น ซึ่งรับโอนมรดกจากพ่อตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.50 แต่ได้รับคำแนะนำโอนให้น้องชายเมื่อวันที่ 25 พ.ค.66

ที่ผ่านมามีแนวคำวินิจฉัยในอดีตวางหลักไว้ว่าห้ามไม่ให้ถือหุ้น ไม่ว่าจะจำนวนเท่าไหร่ หรือครอบงำกิจการหรือไม่ เพื่อป้องกันที่จะใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ การมีหุ้นสื่อแม้แต่หุ้นเดียวก็ถือว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ

ข้ออ้างว่าไม่ได้โอนหุ้นก่อนลงสมัครเพราะเห็นว่า ITV ไม่ได้ดำเนินการแล้วนั้นเป็นความเข้าใจเอาเอง ส่วนเรื่องการโอนหุ้นด้วยวาจานั้นยังมีพิรุธไม่สอดคล้องกับคงามเป็นจริง เพราะยังปรากฎหลักฐานการถือหุ้นในวันสมัคร และการโอนหุ้นเพื่อไปทำงานทางการเมืองก็ขัดแย้งกับความเชื่อของนายพิธาที่ว่า ITV ไม่ใช่สื่อ ไม่เช่นนั้นคงไม่จำเป็นต้องโอน

ขณะที่กรณีที่ ITV ยังประกอบธุรกิจสื่อหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงในการไต่สวนรับฟังได้ว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.50 ITV ได้เลิกการแพร่ภาพสื่อโทรทัศน์ หลังสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) บอกเลิกสัญญา บริษัทฯ ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ และได้แจ้งหยุดกิจการ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนยกเลิกกิจการและชำระบัญชี เนื่องจากคดีที่มีกับ สปน.ยังไม่สิ้นสุด ซึ่งบริษัทส่วนรายได้ของบริษัทฯ มาจากการลงทุนตราสารหนี้ และรายได้จากดอกเบี้ยเท่านั้น

ส่วนที่ ITV ถือว่าปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับสื่อมวลชนหรือไม่นั้นศาลวินิจฉัยว่าการพิจารณาว่านิติบุคคลใดเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือหนังสือพิมพ์หรือไม่ ไม่อาจพิจารณาจากการจดแจ้งวัตถุประสงค์เท่านั้น แต่ต้องพิจารณาควบคู่กับพฤติกรรมในการดำเนินกิจกรรมของนิติบุคคลนั้นด้วยหรือไม่

แม้จะมีข้อโต้แย้งว่าหากบริษัทชนะคดีปกครองจะสามารถกลับมาประกอบธุรกิจสื่อได้นั้น ศาลเห็นว่า ถึงจะชนะคดีแต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะกลับมาดำเนินกิจการต่อหรือไม่ เพราะไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ และเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น

ศาลฯ จึงมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพความเป็น สส.ของนายพิธา ไม่ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ที่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง สส.

อย่างไรก็ตาม ก่อนศาลมีคำวินิจฉัยได้ชี้แจงว่ากรณีที่คดีล่าช้าออกไป 60 วัน เนื่องจากนายพิธายื่นคำร้องขอขยายเวลา 2 ครั้ง ไม่ได้มาจากศาลฯ ล่าช้า และคู่กรณีไม่ควรแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดี ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ เพราะอาจเป็นการกดดันหรือชี้นำคำวินิจฉัยของศาลได้

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้าวันพุธที่ 31 ม.ค.เวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยว่าการกระทำของ นายพิธา ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ