"ชูศักดิ์"ยัน"โกร่ง"ไม่กินตำแหน่งการเมือง ไม่จำเป็นต้องออกจากงานเอกชน

ข่าวการเมือง Monday August 4, 2008 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นว่า นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ไม่จำเป็นต้องลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาในบริษัทเอกชน เพราะตำแหน่งที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี(ครม.)ด้านเศรษฐกิจนั้นไม่ได้เป็นตำแหน่งทางการเมือง แต่เป็นเพียงการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลอาจจะนำคำปรึกษาไปใช้หรือไม่ก็ได้ 
ส่วนการที่คณะที่ปรึกษาฯ จะเข้าประชุมร่วมกับ ครม.ทุกครั้งหรือไม่นั้นอยู่ที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม อย่างไรก็ดีเชื่อว่าการเข้ามารับตำแหน่งของนายวีรพงษ์ในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมาก
"การให้คำปรึกษา ไม่ใช่ว่านายกฯ จะต้องทำตาม แต่เป็นเพียง advisor เท่านั้น...ไม่มีความจำเป็น(ลาออกจากตำแหน่ง) เพราะตำแหน่งนี้(ประธานที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ)ไม่มีผลทางกฎหมาย" นายชูศักดิ์ ระบุ
ส่วนกรณีที่นายไชยา สะสมทรัพย์ กลับเข้ามาเป็น รมว.พาณิชย์ จากที่ก่อนหน้านี้ต้องพ้นสภาพความเป็น รมว.สาธารณสุข เนื่องจากไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินของภริยาในส่วนที่ถือหุ้นบริษัทเอกชนเกิน 5% ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นั้น เชื่อว่าครั้งนี้นายไชยา จะยื่นหลักฐานแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เป็นที่เรียบร้อย
นายชูศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยว่า นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) จะได้นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้แก่ทุกพรรคร่วมรัฐบาลได้พิจารณาร่วมกันอีกครั้ง โดยประเด็นหลักและเห็นชัดเจนสุดว่าจะต้องแก้ไขคือเรื่องระบบการเลือกตั้ง แต่เพื่อความรอบคอบจึงต้องการให้พรรคร่วมรัฐบาลตรวจสอบดูก่อน เพราะสุดท้ายพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนุญ
"จะส่งให้พรรคร่วมรัฐบาล แต่บางประเด็นก็มีข้อยุติแล้ว แต่เพื่อความเรียบร้อยก็จะส่งให้พรรคร่วมดูก่อน...ตอนนี้ที่ชัดเจนสุดคือเรื่องระบบเลือกตั้ง" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ในมาตรา 63 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ถ่ายเอกสารแจกให้สื่อมวลชนนั้น นายชูศักดิ์ ระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่จะแก้ไขในมาตราดังกล่าว และเห็นว่าหากรัฐบาลจะแก้ไขมาตรา 63 จะต้องไปพิจารณาในแง่กฎหมาย โดยยึดหลักว่าการชุมนุมใดๆ ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสาธารณะ
"กรรมการยังไม่ได้ยกร่างอะไร เพียงแต่เข้าใจว่า มาตรา 63 เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ปัญหาขณะนี้คือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในที่สาธารณะ ระบุไว้อย่างไร" นายชูศักดิ์ กล่าว
พร้อมมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นทุกฝ่ายควรจะรับฟังเหตุผลร่วมกัน และไม่ต้องการให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ไปเป็นประเด็นกล่าวอ้างเพื่อนำไปสู่การนองเลือดที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ