พรรคเพื่อไทย ส่งขุนพลทีมเศรษฐกิจจัดสัมมนาเชียงใหม่อัดรัฐละเลยรากหญ้า

ข่าวการเมือง Friday July 10, 2009 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พรรคเพื่อไทย(พท.) จัดเสวนาในหัวข้อเศรษฐกิจเรื่อง"ทางออกประเทศไทย ล้างหนี้ประเทศ สร้างรายได้ให้ประชาชน" ที่ จ.เชียงใหม่ โดยมีนายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง, นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรค, นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ ในฐานะ ส.ส. เชียงใหม่ เขต 1 และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ส.ส. เชียงใหม่ เขต 2 ร่วมเป็นวิทยากร

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า พรรค พท.ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจแล้วเห็นว่านอกจากสถานการณ์จะไม่ดีขึ้นแล้วยังจะทรุดตัวลงไปกว่านี้อีก จึงตัดสินใจที่จะไม่นิ่งเฉยต่อไปและปล่อยให้ประเทศชาติล่มจม พรรคจึงได้จัดสัมมนาวิชาการขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างนโยบายเพื่อหารายได้ ล้างหนี้ประเทศ

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย มีจุดยืนที่ชัดเจนในการบริหารเศรษฐกิจแบบ 2 แนวทาง คือ เน้นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ จาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออก การลงทุนโดยตรงจากประเทศ และการท่องเที่ยว และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากหญ้าที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ การลดรายจ่าย สร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อลดปัญหาความยากจน และต้องสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจและคนไทยทั้งประเทศ

ด้านนายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพราะช่วง 6 เดือนที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ สำหรับแนวคิดเรื่องการกู้เงินเพื่อลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้แต่อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะนอกจากนโยบายด้านการคลังที่รัฐบาลใช้อยู่แล้วควรใช้มาตรการทางการเงินเข้ามาช่วยเสริม ต้องเพิ่มสินเชื่อเพื่อกระตุ้นการลงทุนของเศรษฐกิจ ควรมีนโยบายเงินบาทอ่อนตัวลงอยู่ในประมาณ 37 บาทต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้เหมือนรัฐบาลสหรัฐ จีน และเกาหลีใต้ ในเรื่องการเพิ่มรายจ่ายให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่โครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นมาตรการที่น่าจะได้ผลมากกว่าการแจกเงินให้ประชาชนไปซื้อของ เพราะเป็นการให้เงินกู้หรือผันเพื่อสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น

"รัฐบาลไม่ควรนั่งเทียนพูดในเรื่องนโยบายว่าควรจะทำอย่างไร หรือมีแนวทางอย่างไรเท่านั้น แต่รัฐบาลต้องลงมือทำ ต้องลงมือบริหารอย่างจริงจัง ถึงจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างได้ผล จะมัวนั่งอยู่เฉยๆ แล้วรอให้เศรษฐกิจดีขึ้นเองก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติไปได้ เพราะรัฐบาลถูกเลือกโดยประชาชนมาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ถูกเลือกมานั่งหลับตาภาวนารอให้เศรษฐกิจฟื้น" นายโอฬาร กล่าว

ขณะที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า การที่รัฐบาลกู้เต็มวงเงินงบประมาณมีความเสี่ยงในด้านการบริหารนโยบายการคลังของรัฐบาลในปีถัดไป เพราะจะไม่มีงบประมาณเหลือไว้สำรองหากต้องการจะลงทุนเพิ่มในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในอนาคต และขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนในการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว เห็นได้ชัดจากภาวะการณ์ผลิตที่ไม่สามารถขายของได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจรากหญ้าของไทย

"เมื่อการส่งออกของไทยมีปัญหา รัฐบาลกลับไม่ได้สร้างกำลังซื้อในประเทศไว้รองรับ ทำให้ภาคการผลิตทั้งอุตสาหกรรมและการเกษตรมีปัญหา เกษตรกรผลิตสินค้าออกมาแต่ขายไม่ได้ ส่งผลทำให้ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ รัฐบาลขาดความเอาใจใส่ที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เพราะดูจากงบประมาณปี 2553 ที่ให้กับกลุ่มเศรษฐกิจรากหญ้าได้ถูกปรับลดงบประมาณไปเป็นจำนวนมาก ทั้งเงินสนับสนุนของกองทุนหมู่บ้าน และงบประมาณของโครงการ SML ในปีงบประมาณ 2553 ได้ถูกตัดออกทั้งจำนวน" นายสุชาติ กล่าว

ส่วนนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม SMEs และ OTOP เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมีเป็นจำนวนมาก และไม่เพียงแต่ธุรกิจภาคเหนือเท่านั้น SMEs และ OTOP ในทุกภาคทั่วประเทศขณะนี้ได้รับความเดือดร้อนเท่ากันหมด ยิ่งไปกว่านั้นงบประมาณที่เคยส่งเสริมธุรกิจประเภทนี้กลับถูกตัดออกไปแทบไม่มีเหลือ จากนี้ต่อไปธุรกิจ SMEs และ OTOP จะลำบากมาก เพราะรัฐบาลไม่มีนโนบายการช่วยเหลือที่ชัดเจน ทั้งเรื่องเม็ดเงินและเรื่องการตลาด

รองหัวหน้าพรรค พท. เสนอให้ SMEs รวมกลุ่มกันในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายช่วยเหลือกันเองไปก่อน และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลส่งเสริม SMEs และ OTOP ในด้านการผลิต เสริมความรู้เรื่องการตลาด และการจัดทำระบบฐานข้อมูล ทั้งข้อมูลการผลิต-การตลาดในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่ม SMEs และ OTOP เพราะกลุ่มธุรกิจนี้มีจำนวนที่มากกว่า 90% ของกิจการทั่วประเทศ ซึ่งน่าเสียดายที่รัฐบาลพยายามกู้เงินจำนวนมาก แต่แทนที่จะนำเงินกู้มาช่วยเหลือ SMEs และ OTOP ซึ่งมีจำนวนมาก กลับไปเลือกอุ้มคนรวย

"การกู้ในประเทศเป็นการดูดซับสภาพคล่องในตลาดไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เงินที่ควรจะให้ผู้ประกอบการกู้ไปลงทุน กลายเป็นเงินให้รัฐบาลกู้ไปเสียหมด" นายปานปรีย์ กล่าว

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังฯ กล่าวว่า ทางรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้จะต้องอาศัยการมองวิกฤตให้เป็นโอกาส จังหวัดเชียงใหม่มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชีย หรือ Medical Hub of Asia แห่งที่สองของไทยต่อจากกรุงเทพฯ และมีศักยภาพสามารถพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ เพื่อพัฒนาเชียงใหม่และอีกหลายๆ จังหวัดในภาคเหนือให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์(creative economy) ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่าการผลิตสินค้าแบบเดิมๆ

"ทั้งสองโครงการนี้ได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทยเรื่อยมาจนถึงรัฐบาลพลังประชาชน แต่ภายหลังที่เปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน โครงการทั้งสองนี้ก็ไม่ได้รับการสานต่ออย่างจริงจัง และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก" นายสุรพงษ์ กล่าว

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ สส. เชียงใหม่ เขต 2 พรรค พท. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ได้มีการวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวของภาคเหนือไว้อย่างเป็นระบบ มีการวางแผนพัฒนาระยะยาว 10 ปีไว้ และได้มีการดำเนินการตาม Roadmap ที่เขียนไว้อย่างต่อเนื่อง แต่น่าเสียดายที่ภายหลังการปฏิวัติในปี 2549 และการเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปลายปีที่แล้วกลับไปยกเลิกโครงการสำคัญๆ หลายโครงการ เช่น การสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติที่เชียงใหม่ การสร้างศูนย์การบินภูมิภาค (Aviation Hub) การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งหากพรรค พท.ได้เป็นรัฐบาลจะกลับมาสานต่อโครงการสำคัญๆ เหล่านี้ เพื่อสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจภาคเหนือให้ก้าวหน้าแข็งแรงต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ