นายกฯ ระบุ"ทักษิณ"เป็นอุปสรรคแก้ปัญหาชาติ ลั่นขอสร้างสมานฉันท์ให้คนรำลึก

ข่าวการเมือง Thursday October 22, 2009 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาของชาติ โดยเฉพาะปัญหาความล้มเหลวทางการเมืองที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคม ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งภาค แบ่งสีเกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 10 เดือนที่เข้ามาบริหารประเทศยังไม่สามารถยุติปัญหาดังกล่าวได้

"พ.ต.ท.ทักษิณ ยังคงมีบทบาทแน่นอน เพราะยังคงมีความมุ่งหมายที่จะกลับเข้ามามีอำนาจ โดยมีความพยายามที่จะล้มล้างคดีต่างๆ ซึ่งได้มีการตัดสินไปแล้ว นั่นหมายถึงว่าถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีการต่อสู้เพื่อเอาชนะคะคานให้ได้ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบหรือเปลี่ยนแปลงระบอบ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย ขึ้นอยู่กับประชาชนคนไทยว่าจะมองสถานการณ์ตรงนี้ทะลุหรือไม่ อย่างไร"นายกรัฐมนตรี ระบุในตอนหนึ่งของหนังสือ "อภิสิทธิ์คนเดิม บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี"ที่จะเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติช่วงบ่ายวันนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากวันหนึ่งต้องพ้นจากตำแหน่งไป ก็อยากให้ประชาชนจดจำภารกิจที่ได้ทำในเรื่องการกอบกู้วิกฤติกับการสมานแผล หรือการทำให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเชื่อว่าถ้าทำได้อย่างนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สุดยอดแล้ว แต่ถ้าคนจะมองเห็นด้วยว่าทำสิ่งเหล่านี้ได้บนความซื่อสัตย์ไม่ละทิ้งอุดมการณ์พื้นฐานของตัวเองก็จะยิ่งวิเศษ ซึ่งตนเองจะพยายามทำอย่างเต็มที่ แต่ความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวต้องดึงพลังส่วนดีของสังคมอออกมาให้ได้

ส่วนอนาคตทางการเมืองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังมีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะ โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม รวมทั้งการสร้างสวัสดิการให้กับประชาชน ซึ่งตลอดการบริหารประเทศที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลหลายเรื่องประชาชนสามารถจับต้องได้และได้รับประโยชน์โดยตรง และการเลือกตั้งครั้งหน้าจะยังทำหน้าที่นำพรรคประชาธิปัตย์เข้าต่อสู้ในสนามเลือกตั้งต่อไป แต่ไม่คิดว่าจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคยาวนานเหมือนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เพราะคิดว่าขณะนี้เริ่มนับถอยหลังชีวิตการเมืองแล้ว

"ผมใช้คำว่าเราเผาผลาญทรัพยากรทางการเมืองเร็วขึ้นกว่าเดิม อายุการใช้งานนักการเมืองสั้นลง นักการเมืองหมดอายุเร็วขึ้น อีกอย่างหนึ่งผมมองตัวผมเองไม่ออกว่าอีกสิบกว่าปีข้างหน้าผมจะอยู่ในการเมืองได้อย่างไร ผมมองไม่ออก มันไม่เหมือนกับของท่านนายกฯชวน ท่านมีเวลาสะสม สะสมเครดิตอยู่นานมากนะ เป็นยี่สิบกว่าปีใช่ไหมครับ และวันนี้ท่านก็ดำรงอยู่ในฐานะผู้ที่อาวุโสสูงสุดในสภาด้วยซ้ำ แต่ว่าสำหรับผมมันไม่ใช่(นิ่งคิดนิดหนึ่ง) การก้าวขึ้นมามันก็ไม่ได้มีเวลาสะสมอยย่างนั้น และวันที่พ้นไปก็ไม่ใช่คนที่อาวุโส" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

สำหรับแนวคิดในการบริหารประเทศ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องพยายามผลักดันการแก้ปัญหาความล้มเหลวทางการเมืองต่อไป โดยนำระบบรัฐสภาเข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นจุดเริ่มต้นในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับฉันทามติจากประชาชนด้วยการทำประชามติ

"นักการเมืองเป็นคนหมู่น้อยที่มีอำนาจ แต่ไม่ได้หมายความว่า การมีอำนาจแล้วจะทำอะไรได้ทุกอย่าง ผมไม่คิดอย่างนั้น เพราะเห็นจากสถานการณ์ที่ผ่านมาแล้วว่า ถ้านักการเมืองมีอำนาจจริงก็คงแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่นี่ไม่ใช่ ผมคิดว่าจากนี้ไปเป็นจุดที่ท้าทายเรามากทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ถ้าเราพ้นตรงนี้ไปได้แล้วทำให้เราเข้มแข็งขึ้น มันเป็นโอกาสใหม่สำหรับเศรษฐกิจ ถ้าเราถือโอกาสปรับในเรื่องพื้นฐานด้วย เช่น ภาคเกษตร ระบบสวัสดิการ ความไม่เป็นธรรมด้วย มันก็น่าจะแข็งแรงขึ้น ส่วนการเมืองถ้าเราผ่านจุดนี้ไปได้ ผมว่าเราก็เหมือนกับขึ้นชั้นในแง่ของความมีวุฒิภาวะในเรื่องของระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ตรงกันข้ามถ้าเราผ่านไม่ได้ เราก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดกับดักวงจรเดิมนานแสนนานเลยกับความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีความไม่เข้าใจกันบ้างแต่ก็พูดคุยด้วยเหตุและผล โดยยึดประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และจะไม่ยอมให้มีการต่อรองในเรื่องผลประโยชน์ เพราะจะไม่ประนีประนอมกับการทุจริต เพียงเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอด ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลเข้าใจดี

"ใครที่คิดว่าการต่อรองเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือโครงการ คิดว่าผมจะให้ความสำคัญเพียงแต่การอยู่รอดของรัฐบาล ก็คงจะได้รับทราบจุดยืนแนวคิดของผมอย่างชัดเจนว่า ผมไม่ได้สนใจในเรื่องความอยู่รอดของรัฐบาล แต่สนใจในเรื่องของการที่จะทำให้ระดับหรือมาตรฐานทางการเมืองไทยเป็นไปอย่างโปร่งใสที่จะเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องมาต่อรอง สิ่งที่ประนีประนอมไม่ได้คือเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นหรือการที่จะไม่ทำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับส่วนรวม

ถ้าถึงที่สุดแล้วในทางการเมืองไม่สามารถเดินต่อไปได้ ผมก็คิดว่าน่าจะยุบสภา ด้วยเหตุผลที่ว่าสภาชุดนี้ได้ตั้งรัฐบาลมาแล้ว ชุดนี้เป็นชุดที่สาม และดีที่สุดคือต้องกลับไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน"นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามหัวข้อ "จุดเปลี่ยนประเทศไทย จุดยืนอภิสิทธิ์"ซึ่งเป็นภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ