นายกฯ แจงเหตุประกาศกม.มั่นคงฯ ทั่วกทม.สกัดม็อบ นปช.กระจายป่วนเมือง

ข่าวการเมือง Tuesday November 24, 2009 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในพื้นที่ทั้ง กทม.ช่วงวันที่ 28 พ.ย.-14 ธ.ค.เพื่อดูแลการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ประกาศจะใช้ยุทธวิธีดาวกระจายส่งกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังถนนสายสำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ แต่จะไม่กระทบต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน เพราะนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวมีความเข้าใจดี และน่าจะรู้สึกอบอุ่นใจมากขึ้น

"ผู้ชุมนุมมีแนวคิดที่จะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ รัฐบาลต้องการดูแลให้เรียบร้อย ไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ถ้าไปประกาศตามหลังก็จะไม่ทัน"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ดังกล่าว รัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เพื่อใช้เป็นกฎหมายเชิงป้องกันและอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ไม่ได้เป็นกฎหมายห้ามการชุมนุม และเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลก็เคยประกาศใช้มาแล้ว และจากการสอบถามหลายฝ่ายก็เห็นด้วยที่จะมีเครื่องมือคนดูแลความสงบเรียบร้อย

นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่ได้ใช้สองมาตรฐานในการดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม แต่หากกลุ่มใดประกาศที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วจะทำให้เกิดความวุ่นวายก็จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ

ส่วนการเดินทางไปร่วมการประชุมหอการค้าทั่วประเทศที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจเป็นที่แน่นอนว่าจะเดินทางไปหรือไม่ คงต้องรอให้ฝ่ายความมั่นคงและผู้จัดงานประเมินสถานการณ์ร่วมกันก่อน

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีรายงานว่าก่อนวันที่ 30 พ.ย.จะมีการระดมคนเข้ามายังกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงได้ ซึ่งรัฐบาลจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเส้นทางเข้า-ออกกรุงเทพฯ, เส้นทางคมนาคม, สถานที่ราชการสำคัญ และ บ้านบุคคลสำคัญ

"การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้" นายปณิธาน กล่าว

ก่อนหน้านี้ ผู้จัดการประชุมหอการค้าทั่วประเทศได้หารือและตกลงกับแกนนำกลุ่ม นปช.แล้วว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหว แต่ต่อมากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยแยกตัวออกมาแล้วประกาศที่จะต่อต้านการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี และอาจมีการใช้ความรุนแรงด้วย ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง โดยอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีพิธีเปิดและพิธีปิดงานในวันเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ