กมธ.ทหารจี้กองทัพแจงแผนจัดซื้อจีที200-อัลฟา6 สตง.เล็งสอบต้นตออนุมัติ

ข่าวการเมือง Wednesday February 24, 2010 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดและยาเสพติดหรือวัตถุ/สสาร(ALPHA 6) ของกระทรวงมหาดไทย โดยเชิญนายวันชัย อุดมสิน รองอธิบดีกรมการปกครอง, นายสนิท ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน เข้าชี้แจง

นายวันชัย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดซื้อเครื่องอัลฟา 6 ครั้งแรกในปี 51 จำนวน 63 เครื่อง โดยตรวจสอบแล้วว่าเครื่องสามารถใช้งานได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามแผนปี 52 กระทรวงมหาดไทยจึงได้จัดซื้อเพิ่มเติมอีก 789 เครื่อง ซึ่งขณะนี้ได้อนุมัติสั่งซื้อไปแล้ว 479 เครื่อง ในราคาเครื่องละประมาณ 725,900 บาท

อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยไม่ได้จัดซื้อเครื่องดังกล่าวเพื่อตรวจจับวัตถุระเบิด แต่จะตรวจจับเฉพาะสารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าและยาไอซ์เท่านั้น และไม่มีผลกระทบหรือเกิดอันตรายต่อชีวิตของบุคลากรผู้ใช้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ปฏิบัติงานด้วย

ด้านนายยุทธนา วานิชอังกูร ที่ปรึกษากรรมาธิการทหาร กล่าวว่า จากที่เคยหารือกับทูตต่างประเทศ พบว่าทูตรายนี้ค่อนข้างแปลกใจที่ประเทศไทยยังใช้เครื่องอัลฟา 6 เพราะเครื่องมือนี้ความจริงแล้วไม่ได้มีประสิทธิภาพการใช้งานเลย อีกทั้งไม่มีประเทศใดที่พัฒนาแล้วจัดซื้อไปใช้ในการปฏิบัติงานด้านความมั่นคง

"เดิมที เครื่องนี้เกิดเพราะนายพลคนหนึ่งในอิรัก ต้องการคิดค้นเครื่องมือตรวจหาระเบิดที่ใช้ต้นทุนถูกที่สุด เพื่อดึงงบประมาณที่ลงไปในพื้นที่ประเทศอิรักมาใช้ และความจริงเครื่องมือดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพอะไรเลย ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่มีประเทศใดใช้ อีกทั้งนายพลชาวอิรักคนนั้นขณะนี้ก็กำลังติดคุกอยู่ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศไทยจึงยังใช้เครื่องมือดังกล่าวอยู่" นายยุทธนา กล่าว

นอกจากนี้ กรรมาธิการทหารยังได้ตั้งข้อสังเกตุถึงการจัดซื้อที่วิธีพิเศษโดยไม่เปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้ามาประมูล รวมทั้งอาจมีการกินเปอร์เซ็นต์กันเกินจริง ดังนั้นทางกรรมาธิการทหารจึงขอให้กระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมเอกสารและแผนการจัดซื้อมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ โดยเร็ว

จากนั้นได้มีการพิจารณาความคืบหน้าภายหลังการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจีที 200 โดยได้เชิญนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภา รองผู้ว่าการสตง. เข้าชี้แจงการดำเนินการสอบสวนในส่วนของสตง. ต่อกรณีจีที 200

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภา รองผู้ว่าการ สตง.กล่าวว่า กระบวนการจัดซื้อลักษณะนี้หน่วยงานส่วนใหญ่มักเริ่มด้วยการจัดซื้อจำนวนน้อยในครั้งแรก เพื่อให้มีการทดสอบก่อน และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วจึงจัดซื้อล็อตใหญ่ ดังนั้นการตรวจรับและทดลองใช้จะถือเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ปัญหาช่วงต้นคือ ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาก่อน เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ไม่เคยจัดซื้อ และควรให้แต่ละบริษัทผู้ผลิตนำสินค้ามาทดสอบประสิทธิภาพแข่งกัน แล้วจึงค่อยเข้าสู่ขั้นตอนการตัดสินใจจัดซื้อ

อย่างไรก็ตาม จนขณะนี้ที่สตง.พบปัญหามีเพียง 2 ชนิด คือ จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ซึ่งพบว่ามีอย่างน้อย 8 หน่วยงานที่มีเครื่องมือเหล่านี้ใช้อยู่

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ได้เริ่มมีการส่งเรื่องมาให้สตง.ตรวจสอบตั้งแต่ปี 48 ในการจัดซื้อของกองทัพอากาศ โดยเริ่มต้นด้วยการซื้อจำนวนน้อยคือ 2 เครื่อง ซึ่งสามารถใช้วิธีจัดซื้อแบบสอบราคาตามปกติได้ แต่กองทัพอากาศกลับใช้วิธีพิเศษ ดังนั้นจำเป็นจะต้องตรวจสอบต่อไปว่าในระดับกองทัพใครเป็นผู้อนุมัติให้จัดซื้อ แต่เหตุผลส่วนใหญ่ที่หน่วยงานมักจะใช้สำหรับการจัดซื้อวิธีพิเศษคือเพื่อเจาะจงสินค้าและบริษัทผู้เชี่ยวชาญโดยตรง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ