กก.ติดตามสถานการณ์ วุฒิฯ ซัดรัฐปิดสื่อไม่เหมาะสม แนะเปิดเสรีให้ข้อมูลสองด้าน

ข่าวการเมือง Tuesday July 20, 2010 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา จัดเสวนาเรื่อง"ก้าวต่อไปประเทศไทย : บทบาทสื่อมวลชนกับการสร้างความปรองดอง" โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวว่า วุฒิสภามุ่งเน้นหาทางออกให้บ้านเมือง หากรัฐบาลทำอะไรดีงามก็สนับสนุน แต่อะไรที่ไม่ถูกต้องก็จะคัดค้านและมีข้อเสนอแนะให้ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมช่วยกันทักท้วงรัฐบาลหากทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง

นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช กรรมการติดตามสถานการณ์ฯ กล่าวว่า สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญในสังคมในการสร้างความปรองดองหรือสร้างความขัดแย้งชัดเจน ดูตัวอย่างในอดีตกรณี 6 ตุลาคม 19 สถานีวิทยุของรัฐและสื่อบางฉบับโน้มนำ สร้างความเกลียดชัง นำมาสู่ความรุนแรง หรือกรณีพฤษภา 35 บางสื่อก็ถูกปิด บางสื่อก็บิดเบือน ทำให้คนออกมาชุมนุมมาก สุดท้ายเกิดความสูญเสีย ส่วนในโลกก็มีกรณีรวันดาที่ทำให้เกิดความเกลียดชังและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัน ฉะนั้นในปัจจุบัน การปิดสื่อจึงถือว่าไม่เหมาะสมเป็นอย่ายิ่ง เพราะการเปิดเสรีจะนำมาซึ่งข้อมูลหลากหลายที่จะคะคานกันเอง นอกจากนี้ วันนี้สื่อไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนก็ต้องทบทวนการทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมาว่า รอบด้านเพียงพอหรือไม่

ด้านนายไชยา ยิ้มวิไล นักวิชาการและนักสื่อสารมวลชน กล่าวว่า การเมืองไทยปัจจุบัน ภาคประชาชนต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ การชุมนุมที่ปะทุขึ้นมาเพราะมีข้อมูลเปิดออกมามากมายจึงต้องการความเป็นธรรม ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนมีความหลากหลายและบริโภคสื่อมาก มีวิทยุชุมชนในต่างจังหวัด แต่บางแห่งก็บิดเบือนข่าวสารก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดความเข้าใจผิด

ภาพรวมของสื่อไทย สื่อต่างประเทศ 70% มองสื่อไทยว่ามีอคติ และยังไม่เข้าใจหลักการเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะการเมืองไทยเองด้วยที่มีความซับซ้อน ตามหลักการ สื่อต้องพยายามรายงานข่าวตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ส่วนคอลัมนิสต์ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ด้วยจุดยืนมุมมองที่ต่างกัน ฉะนั้นหนังสือพิมพ์ในหนึ่งหน้า คอลัมนิสต์ก็อาจมีหลายเฉดสี มีข้อเขียนที่ต่างกันออกมา ตรงนี้ก็จะเกิดความเป็นธรรม ความรอบด้านมากขึ้น

ส่วนเหตุการณ์ เม.ย.-พ.ค.53 มาถึงวันนี้ยังอึมครึมและมีข้อกังขามากมาย สื่อยังไม่สามารถทำให้ปรากฏได้ชัด แต่เรื่องการสร้างความปรองดอง ก็ยังรู้สึกว่าสื่อยังพยายามทำอยู่

นายปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมเวบไซต์ กล่าวว่า สื่อกับการสร้างความปรองดองทำได้ โดยต้องทำให้ทุกฝ่ายมาคุยกันให้ได้โดยมีคนกลางมากำหนดกติกา เหมือนการปรองดองในประเทศแอฟริกาใต้ที่มีคนกลางนำการพูดคุยของคนแต่ละฝ่ายมาให้สื่อตีพิมพ์ ให้ทีวีทำสกู๊ป เพราะแผนปรองดองต้องมาจากการยอมรับร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่ใช่ให้ฝ่ายใดเสนอแผนมาแล้วจะทึกทักว่าทุกคนยอมรับ ซึ่งการทึกทักอาจจะมาจากการที่มีเสียงดังกว่า มีอำนาจมากกว่า มีเสียงดังจากสื่อมากกว่า

ขณะเดียวกันสื่อต้องมีบทบาทที่จะทำให้เสียงของทุกฝ่ายออกมาให้ได้ เพื่อให้มีข้อเสนอของทุกฝ่ายมาทำเป็นแผนร่วมกัน สำหรับประเทศไทย เวบไต์ของกลุ่มพลังบวกก็พยายามทำแบบนี้ แต่ก็โดนปิด แต่ยิ่งปิดก็ยิ่งมีคนอยากดูมาก วันนี้รัฐจึงไม่สามารถปิดช่องทางได้แล้ว ฉะนั้นจึงต้องคิดใหม่และเปิดให้ทุกฝ่ายได้ส่งเสียง เพื่อยอมรับความจริงร่วมกัน ก็จะปรองดองได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ