นายกฯ ปัดข่าวกษัตริย์เขมรส่งหนังสือเสนอเขาพระวิหารเป็นสัญลักษณ์ปรองดอง

ข่าวการเมือง Wednesday August 4, 2010 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณจากทางกัมพูชาที่จะให้มีการเจรจาในกรอบความร่วมมือหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันในกรณีปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร รวมทั้งยังไม่ได้รับหนังสือจากที่ปรึกษาของกษัตริย์กัมพูชา ที่จะพยายามคลี่คลายความขัดแย้งทั้งเรื่องปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาทอื่นๆตลอดแนวชายแดนตามที่มีกระแสข่าวว่าได้ส่งมาถึงไทย

"ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณจากทางกัมพูชาว่าเขาสนใจจะคุยในกรอบความร่วมมือแค่ไหน แต่ในส่วนของรัฐบาลไทย ความร่วมมือที่ไม่กระทบต่อเขตแดนถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์" นายกรัฐมนตรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากทางไทยและกัมพูชาสามารถเจรจากันเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็พยายามที่จะแสดงออกให้เห็นว่าอยากให้การดำเนินการเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานของสันติภาพและความปรองดองอยู่แล้ว

แต่ขณะนี้ มองว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงไปเจรจากับทางการกัมพูชา เพราะคณะกรรมการชุดที่เพิ่มจัดตั้งขึ้น ซึ่งมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน จะทำหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้ว

"ทางกัมพูชาควรจะยอมรับที่จะไม่มีการผลักดันการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว เพราะยังถือว่าเป็นการสร้างความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น แต่หากทางกัมพูชาให้การยอมรับหรือมีการพูดคุยกับฝ่ายไทยถือเป็นจุดเริ่มต้นดี"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

อนึ่ง รายงานข่าวอ้างหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชารายงานว่าเจ้าชายสีโสวัฒน์ โทมิโก ที่ปรึกษาของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี กษัตริย์กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงนายอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.โดยระบุว่าทั้ง 2 ประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากการยุติเรื่องดินแดนไว้ชั่วคราวเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในภูมิภาค ซึ่งการอ้างสิทธิเหนือเขตแดนเป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์ในการขุดคุ้ยหน้าประวัติศาสตร์และเป็นการทำร้ายประชาชนของทั้งสองประเทศ เนื่องจากขัดขวางการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่

"ท่านนายกรัฐมนตรี ความปรารถนาสูงสุดของข้าพเจ้าคือ การได้เห็นปราสาทพระวิหารคงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของการปรองดองกันระหว่างทั้ง 2 ชาติ ในฐานะความราบรื่นกลมกลืนในความสัมพันธ์ของเรา และในฐานะของรูปแบบความร่วมมือระหว่างเพื่อนบ้านที่ออกดอกผลอุดมสมบูรณ์" เนื้อหาของจดหมายดังกล่าว ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ