DSI สั่งไม่ฟ้อง"ทักษิณ-พจมาน"กรณีก.ล.ต.กล่าวโทษไม่รายงานการโอนหุ้น SHIN

ข่าวการเมือง Wednesday August 18, 2010 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)เปิดเผยว่า DSI มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้มีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีอันสืบเนื่องมาจากผลตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลฎีกาฯ ระบุว่าหุ้นบมจ. ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) ที่ถือครองอยู่ในชื่อของบุคคลในครอบครัว , บริษัท แอมเพิลริช และบริษัท วินมาร์ค เป็นการถือครองหุ้น SHIN แทนผู้ต้องหาทั้งสอง และจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่าเมื่อวันที่ 1 ก.ย.53 ผู้ต้องหาทั้งสองได้โอนหุ้น SHIN ที่ถือครองอยู่ทั้งหมดไปให้บุคคลในครอบครัว และบริษัท แอมเพิลริช โดยได้รายงานต่อ ก.ล.ต. ว่ามีหุ้น SHIN คงเหลือศูนย์หุ้น

ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีความเห็นว่าเป็นการรายงานเท็จหรือไม่ถูกต้อง จึงได้กล่าวโทษว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2553 ตามมาตรา 246 ต้องระวางโทษตามมาตรา 298 เป็นเหตุให้มีการกล่าวโทษมายัง DSI

นายธาริตต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์พยานหลักฐาน DSI เห็นว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่าหุ้น SHIN ที่บุคคลในครอบครัวและบริษัท แอมเพิลริช ถือครองนั้น เป็นการถือแทนผู้ต้องหาทั้งสอง จึงถือได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด จึงไม่มีหน้าที่ต้องรายงานตามแบบ 246-2 และการรายงานเท็จหรือรายงานไม่ถูกต้องต่อ ก.ล.ต. ดังกล่าวนั้น ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามตัวบทกฎหมายที่กล่าวโทษมา จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสอง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สั่งไม่ฟ้องดังกล่าวข้างต้นไม่เกี่ยวข้องกับในส่วนที่ ก.ล.ต. ได้มีการกล่าวโทษผู้ต้องหาทั้งสองอีก 2 ประเด็นว่าได้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ตามมาตรา 246 และมาตรา 247 ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ หากได้ข้อเท็จจริงประการใดก็จะสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอพนักงานอัยการพิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ