นายกฯ ปัดข่าวรัฐบาลแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมคดีส่งตัวพ่อค้าอาวุธสงคราม

ข่าวการเมือง Thursday August 26, 2010 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรี ระบุรัฐบาลไม่เคยแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมกรณีที่ทางการสหรัฐขอให้ส่งตัวนายวิคเตอร์ บู๊ท ผู้ต้องหาคดีค้าอาวุธสงคราม เป็นผู้ร้ายผ่านแดนไปดำเนินคดีในสหรัฐตามข้อกล่าวหาของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลได้ข้อมูลเรื่องใดมาก็ตามจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนทุกครั้ง

"เรื่องนี้เริ่มต้นจากความพยายามกล่าวหาว่ารัฐบาลพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ข้อกล่าวหานั้นเป็นเท็จ เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการก็ยังเดินไปตามปกติ ตรงกันข้ามมีคนให้ข้อมูลเรื่องค้าอาวุธว่าเกี่ยวข้องกับ นปช.หรือไม่ เรากลับตรวจสอบให้ความเป็นธรรม ไม่เคยกล่าวหาใคร" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนกรณีที่ภรรยาของวิเตอร์ บู๊ท ผู้ต้องหาคดีค้าอาวุธสงคราม ออกมาระบุว่ามีเทปลับบันทึกการสนทนาระหว่างสามีกับนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองไม่ทราบข้อมูลเรื่องนี้ สื่อมวลชนคงต้องไปสอบถามข้อเท็จจริงจากนายศิริโชคเอง ส่วนปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ และไทยกับรัสเซียนั้นเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ชี้แจงให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา

สำหรับกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา และที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะมีส่วนช่วยให้การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ง่ายขึ้น แต่คงไม่ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มผู้สนับสนุนลดน้อยลง โดยอดีตนายกรัฐมนตรียังพำนักอยู่ในประเทศแถบอาเซียน

"คงเป็นคนละส่วนกัน ในส่วนของกัมพูชาที่เราทำอยู่คือการฟื้นฟูความสัมพันธ์ และขณะนี้มีแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยังค้างอยู่ เมื่อไม่มีเรื่องคุณทักษิณแล้วการแก้ไขปัญหาก็จะง่ายขึ้น" นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีผู้เสียชีวิต 91 รายช่วงระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ว่า ตนเองยังไม่ได้รับรายงานจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว รัดกุม และรอบคอบ แต่เนื่องจากเกิดเหตุหลายช่วงเวลาและมีความชุลมุนเกิดขึ้นด้วย

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน เสนอให้รัฐบาลทดลองยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งตนเองได้ให้นโยบายไปแล้วว่าหากพื้นที่ใดมีความพร้อมก็สามารถยกเลิกได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากมีการยกเลิกแล้วรัฐบาลจะนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงราชอาณาจักร มาบังคับใช้เพื่อเป็นหารช่วยเหลือผู้หลงผิด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ