(เพิ่มเติม) นายกฯ ขอ 2-3 เดือนประเมิน-รวบรวมข้อมูลเหมาะสมเลือกตั้งต้นปี 54 หรือไม่

ข่าวการเมือง Sunday September 12, 2010 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลต้องการเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนในช่วงนี้ เพื่อประเมินเหตุการณ์ทั้งหมดควบคู่ไปกับการรายงานผลของคณะทำงานต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นทั้งด้านการปฏิรูปประเทศ การสร้างความปรองดอง ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนจะนำมาพิจารณาว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในช่วงต้นปีหน้า

"เราต้องการเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อขอประเมินเหตุการณ์ บวกกับการให้กลไกที่ทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูป และการปรองดองมีความคืบหน้ามากกว่านี้ ทั้งงานของ อ.คณิต, อ.สมบัติ, ท่านอานันท์ คุณหมอประเวศ ผมคิดว่าเป็นจุดสำคัญที่จะเป็นตัวชี้ว่าเมื่อถึงต้นปีแล้ว เหมาะสมหรือไม่ที่จะมีการเลือกตั้ง" นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์"

โดยยังคงยืนยันว่า การเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นนั้นต้องนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่การจะให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นได้นั้นต้องเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและเสรี ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องพยายามลดเงื่อนไขบรรยากาศความรุนแรง และการคุกคามทางการเมืองให้หมดไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หากพรรคเพื่อไทยมองว่าการเลือกตั้งจะเป็นทางออกของประเทศได้ ก็ต้องช่วยกันและร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อทำให้บ้านเมืองสงบและนำไปสู่การจัดเลือกตั้งใหม่ โดยต้องตัดให้ขาดในเรื่องการละเมิดสถาบัน การใช้ความรุนแรง หรือการใช้อาวุธ ซึ่งจะถือเป็นรูปธรรมของการนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างแท้จริง

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าเห็นด้วยกับการปรองดอง โดยยืนยันว่าไม่คิดจะล้างแค้นแต่คงไม่จูบปากด้วยนั้น นายกรัฐมนตรี เน้นว่า หัวใจของการปรองดองไม่ได้อยู่ที่การนิรโทษกรรม เพราะไม่ต้องการให้ยกเรื่องการนิรโทษกรรมมาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ ซึ่งหากนำมาใช้กันบ่อยอาจกลายเป็นการชี้ช่องทางกฎหมายให้เกิดมีการกระทำผิดได้บ่อยๆ เพราะหวังว่าสุดท้ายแล้วจะได้รับการนิรโทษกรรม

"เรื่องคุณทักษิณ ที่จะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนคนอื่นคงไม่ได้ การนิรโทษกรรมจะนิยาม หรือจำกัดกลุ่ม เหตุการณ์อย่างไรนั้นไม่อยากให้ใช่เรื่องนี้กันเฝือ เพราะเมื่อใช่บ่อยๆ แทนที่จะนำไปสู่การปรองดอง กลับนำไปสู่ชี้ช่องว่าถ้าทำผิดกฎหมายแล้วทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะไม่ผิด...ในชั้นนี้ผมไม่ได้มองว่าหัวใจของการปรองดองอยู่ที่การนิรโทษกรรม หัวใจคือการกลับมาแลกเปลี่ยนเพื่อผลักดันให้ประเทศเข้าระบบการเมืองตามปกติ อะไรเป็นอุปสรรคก็มาช่วยกันขจัด โดยไม่มีธงล่วงหน้า" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ถือว่าเป็นผู้ที่มีบารมีและมีอิทธิพลต่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดง ตลอดจนผู้สนับสนุน ซึ่งในเรื่องการปรองดองนั้นต้องเป็นเรื่องของผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะนำบารมีที่มีไปใช้กับผู้สนับสนุนได้ แต่ต้องไม่นำเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวมาอยู่ในสมการการแก้ปัญหา เพราะรัฐบาลไม่มีหน้าที่แก้ปัญหาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มใด แต่รัฐบาลมีหน้าที่แก้ปัญหาให้กับคนทั้งประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ