"อัมสเตอร์ดัม"ส่งจม.เปิดผนึกเตือนนายกฯ ปฏิบัติตามสนธิสัญญาสิทธิพลเรือนฯ

ข่าวการเมือง Friday September 24, 2010 11:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม สำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ พีรอฟฟ์ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านเว็บไซต์ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำตามพันธกรณีที่มีต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ด้วยการเร่งรัดสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของพลเรือนกว่า 80 รายในระหว่างการชุมนุม และยังระบุถึงหน้าที่ที่รัฐบาลที่จะต้องให้โอกาสแก่ทีมทนายของผู้ถูกกล่าวและทางสำนักงานกฎหมายในการเข้าถึงพยานหลักฐาน

จดหมายดังกล่าวระบุว่าเป็น ฉบับที่ 3 หลังจากได้ส่งจดหมายย้ำเตือนรัฐบาลถึงสองครั้ง พร้อมระบุว่า เป็นที่ปรากฏชัดว่า แทนที่คณะรัฐบาลจะปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่กลับพยายามปกปิดอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กองทัพไทยกระทำต่อผู้ชุมนุมที่ปราศจากจากอาวุธระหว่างการชุมนุม

"การที่คณะรัฐบาลปฏิเสธที่จะยกเลิกพระราชกำหนดฉุกเฉิน และเพิกถอนอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามปกปิดข้อเท็จจริง แม้จะมีพยานที่อยู่ในเหตุการณ์และวิดีโอบันทึกเหตุการณ์จำนวนมากที่ระบุว่ากองทัพไทยมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของพลเรือนทั้ง 80 รายก็ตาม"นายอัมสเตอร์ดัม ระบุ

นอกจากนั้น การที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ถอดถอนอำนาจหน้าที่ของกรมตำรวจในการสอบสวนคดีดังกล่าวในวันที่ 20 เม.ย.53 ทำให้กระบวนการการสอบสวนคดีเกิดความล่าช้า กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI)มีผลการชันสูตรพลิกศพของผู้เสียชีวิตทั้งหมด แต่ทางทีมทนายของผู้ถูกกล่าวหาและญาติของผู้เสียชีวิตไม่ได้รับผลการชันสูตรดังกล่าว หรือวิดีโอบันทึกเหตุการณ์การการสลายชุมนุมแต่อย่างใด

และแม้ว่าจะมีหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายหรือวิดิโอมากมายที่ระบุรูปพรรณสัณฐานทหารที่ยิงอาวุธใส่กลุ่มผู้ชุมนุม แต่ยังไม่มีการจับกุมหรือสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารแม้แต่คนเดียว DSI ไม่ได้ดำเนินการสอบสวนพยานในเหตุการณ์ดังกล่าว และความล่าช้าของ DSI ส่งผลให้หลักฐานเหล่านั้นเน่าเปื่อยผุพัง และสร้างความยากลำบากในการระบุพยาน

รัฐบาลยังได้สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้พยานเกิดความหวาดกลัวที่จะให้ข้อมูลอันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจคุกคามผู้ต้องสงสัย ขณะที่การ์ดนปช. 3รายเสียชีวิตจากสาเหตุอันผิดธรรมชาติหลังจากการชุมนุม นอกจากนี้ ศอฉ.ยังใช้อำนาจในการยึดทรัพย์สินของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และมีการใส่ร้ายกลุ่มคนเสื้อแดงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การยิงและลอบวางระเบิดเอ็ม79

สิ่งเหล่านี้แสดงในเห็นถึงความสองมาตรฐานที่ใช้ทำลายการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงของเจ้าหน้ารัฐอย่างต่อเนื่อง และสิ่งเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นว่าคณะรัฐบาลของท่านปราศจากความน่าเชื่อถือที่จะดำเนินการสอบสวนคดีเกี่ยวกับการสังหารประชาชนอย่างเป็นอิสระหรือเป็นธรรม ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังโยนความรับผิดต่อการตายของประชาชนทั้งหมดให้กับแกนนำนปช.

"เราขอย้ำเตือนในท่านเห็นถึงความล้มเหลวของท่านในการเยียวยาเหยื่อของอาชญากรรมอันทารุณ อาทิ การสังหารประชาชนโดยใช้ศาลเตี้ยหรืออำนาจมืด ซึ่งเป็นการละเมิดต่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเรือนและสิทธิทางการเมือง รวมถึงบทบัญญัติกรุงโรมซึ่งเป็นรากฐานของศาลอาญาระหว่างประเทศที่บัญญัติให้ทหารหรือพลเรือนผู้มีอำนาจเหนือประชาชนที่ล้มเหลวในการดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต้องรับผิดชอบ หากปรากฏชัดว่ากลุ่มคนดังกล่าวได้จงใจเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ระบุชัดแจ้งว่าผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว ซึ่งได้ระบุไว้ในบทบัญญัติกรุงโรม มาตรา 28 (b) (III) หลักการดังกล่าวยังเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่สามารถนำไปปรับใช้กับประเทศไทยได้"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ