ส.ว.-นักวิชาการระบุนักการเมืองแทรกแซงขรก./แนะตั้งองค์กรตรวจสอบภาคปชช.

ข่าวการเมือง Friday September 24, 2010 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวในงานเสวนา เรื่อง "นักการเมืองกับการแทรกแซงข้าราชการ"ว่า ปัจจุบันมีนักการเมืองแทรกแซงหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งผู้บริหาร และเช่าซื้อทรัพย์สินของรัฐในราคาถูก โดยยกตัวอย่าง กรณีเช่าซื้อระบบคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทยที่กำลังถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ซึ่งถูกประชาชนคัดค้านจนไม่สามารถดำเนินการได้

นายต่อตระกูล ยมนาค คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐกิจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า นักการเมืองไทยยังขาดจริยธรรมทำให้ประเทศไทยสอบตกเรื่องความโปร่งใส โดยได้คะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 3.6 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ซึ่งปัญหาแทรกแซงหน่วยงานราชการ ก่อให้เกิดปัญหาทุจริตและไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน โดยยกตัวอย่างโครงการของรัฐบาลในอดีตที่มีปัญหาแทรกแซงหน่วยงานราชการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ยังมีปัญหารถไฟตกราง ปัญหาโครงการก่อสร้างโฮปเวลล์ถนนวิภาวดี-รังสิต

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้ง องค์กรตรวจสอบภาคประชาชน หรือ Beautiful Foundation เหมือนในประเทศเกาหลีใต้ว่า ต้องมีองค์กรหรือสถาบันที่มาคอยรวบรวมข้อมูล เริ่มจากนักการเมืองตั้งแต่รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมทั้งข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล

จากนั้นนำทั้งข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลพฤติกรรม การอภิปราย การโหวตในสภาฯ การดำเนินคดี สุดท้ายประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จัดทำเป็นเว็บไซต์พิเศษขึ้นมา มีระดับชั้นความลับแบ่งเป็นหลายระดับ ขณะนี้เริ่มกระบวนการแล้ว โดยจะมีคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดแรกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนใจ และตั้งอนุกรรมการขึ้นมาทำเรื่องนี้ อีกทั้งเชิญพล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เป็นประธานอนุฯ ส่วนภาคประชาชน ทำงานกึ่งๆ องค์กรอิสระ ตั้งสถาบันขึ้นมาแล้วเช่นกัน มีศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา โต้โผรวบรวมข้อมูลแล้ว และมีนพ.มงคล ณ สงขลา ร่วมด้วย

“เรื่องนี้เป็นเกมรุกของป.ป.ช. และทำงานประสานกับภาคประชาชน หวังในระยะยาวองค์กรทำนองนี้มีลักษณะแข็งขันขึ้น มีข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนเห็นมากขึ้น ประชาชนสามารถเข้าเว็บไซต์ได้ สื่อมวลชนอยากรู้เข้าเว็บไซต์นำข้อมูลมาตีแผ่ ช่วยกันหลายๆ ทาง เหมือนกับการเปิดห้องให้มีแสงสว่าง คนทำผิดก็ทำผิดยากขึ้น และเป็นการป้องกันทางหนึ่ง"

นายทนงศักดิ์ มุ่งมณี เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในส่วนของ ป.ป.ช.เองมีเครือข่ายป.ป.ช.ภาคประชาชนแต่ละจังหวัด กำลังออกแบบว่า จะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างไรในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลของนักการเมืองสู่สาธารณะ กำลังคิดกันอยู่

“ทางทีมอาจารย์จุฬาฯ กำลังขับเคลื่อนทำวิจัย 18 จังหวัด ส่วน ป.ป.ช.จะเริ่มต้น 8 จังหวัดก่อน คาดว่าภายในปีหน้าจะได้เห็นมาตรการการเมืองภาคพลเมืองสามารถตรวจสอบพฤติการณ์ของคนสมัคร ส.ส.ได้ว่า ลักษณะแบบนี้ประชาชนสามารถไว้วางใจได้หรือไม่"นายทนงศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ