"กรณ์"รับบาทแข็งกระทบศก.แล้ว,ศึกษามาตรการภาษีทั้งดูแลค่าเงิน-สนับสนุนลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday October 9, 2010 10:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบระยะสั้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กำลังพิจารณาในเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ที่ 7%

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยมีการปรับตัวทุกด้าน ก็จะทำให้การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลในเชิงบวกระยะยาวต่อประเทศ เพราะจะเป็นตัวแปรให้โครงสร้างเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคสูงขึ้น และช่วยลดการพึ่งพาการส่งออก

แม้ว่าในระยะสั้นการส่งออกอาจปรับลดลงจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก แต่หลังจากที่เรามีการปรับปรุงคุณภาพสินค้า รักษาระดับความสามารถการแข่งขัน รักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกไว้ได้ ก็จะกลายเป็นข้อดี ประกอบกับขณะนี้โครงสร้างการส่งออกมีการกระจายตัวในตลาดโลกมากขึ้น จากอดีตที่เราจะพึ่งการส่งออกในตลาดหลักอย่างยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น แต่ขณะนี้ไทยมีการส่งออกในกลุ่มอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

สำหรับมาตรการที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น นายกรณ์ กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนและรัฐบาลต้องปรับตัวเพื่อรักษาระดับความสามารถการแข่งขัน ซึ่งมองว่าการที่อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ดังนั้นเรื่องที่จะมองว่าบาทจะอ่อนค่าคงสวนทางกับความเป็นจริง โดยนโยบายของธปท.ที่เข้ามาดูแลค่าเงินคือลดความผันผวน

ขณะที่ยังมีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการเช่นข้อจำกัดของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยขณะนี้ได้หารือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารออมสินในการวางแนวทางช่วยเหลือแล้ว

นอกจากนั้นจะพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเพื่อรักษาระดับความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการคิดพัฒนาด้านอื่น ๆ เพื่อรักษาระดับคุณภาพสินค้า รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่สูงขึ้นมาใช้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีนโยบายทางภาษีเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนยกระดับการผลิต เช่น การลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เป็นต้น

ส่วนมาตรการภาษีเพื่อดูแลค่าเงินบาทและเงินทุนนำเข้านั้น นายกรณ์ ตอบเพียงว่า ได้มีการศึกษาเรื่องนี้ไว้ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะมีการนำมาใช้หรือไม่

สำหรับข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนที่ขอให้ธปท.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาทนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ไม่ใช่การตัดสินใจของผู้ว่าการ ธปท.เพียงคนเดียว ขณะที่ตนเองก็ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการพิจารณาดังกล่าว แต่ขณะนี้ก็มีความชัดเจนว่าระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อชะลอลงเพราะเงินบาทแข็งค่า จึงมั่นใจว่า กนง.จะนำประเด็นดังกล่าวไปพิจารณากำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย

นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ไม่ควรให้ความสำคัญกับความผันผวนวันต่อวันของค่าเงินบาท แต่ควรสนใจทิศทางในระยะต่อไป โดยที่ผ่านมาตนเองและผู้ว่าการ ธปท.ได้หารือกับประเทศอื่น ๆ ว่าอยากให้ประเทศมหาอำนาจมีการหารือกันและมีข้อตกลงให้ชัดเจนที่จะต้องบริหารค่าเงินตามข้อเท็จจริงและให้มีความผันผวนน้อยที่สุด เพื่อให้โอกาสทุกประเทศมีการปรับตัว เพราะถ้าไม่คุยกัน ระดับความผันผวนมีสูงและมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว ก็จะกระทบกับการปรับตัว ทั้งนี้ยังมองว่าภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้ แต่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ มีขั้นตอนที่จะต้องทำ

ขณะที่ข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะให้มีการจัดตั้งกองทุนให้กู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่านั้น นายกรณ์ กล่าวว่า พร้อมยอมรับข้อเสนอจากทุกฝ่าย แต่ต้องตอบโจทย์สังคมด้วยว่ามีเหตุผลสมควรหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ขณะที่อัตรราแลกเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้น หากจะมีมาตรการช่วยเหลือยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการกลุ่มใด อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการอีกกลุ่มหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ