China Focus: ธนาคารกลางจีนขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 20, 2010 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกลางจีนได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก 0.25% เมื่อวานนี้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.เป็นต้นไป ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการดำเนินการเพื่อควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของรัฐบาล

ธนาคารกลางจีนระบุในแถลงการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% จากระดับเดิมที่ 2.25% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5.56% จากระดับ 5.31%

เจียง เฉา นักวิเคราะห์ของกั๋วไท่ จวินอัน ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 3 ปีครั้งนี้ ไม่ได้รับการคาดหมายมาก่อน และอาจเชื่อมโยงกับสถิติเดือนก.ย.และไตรมาส 3 ที่จะมีการเปิดเผยในเร็วๆนี้ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ อาจจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงในเดือนก.ย.

ทั้งนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยธนาคารกลางจีนได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2550

จีนได้ลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 4 ครั้ง นับตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตการเงินโลก

หลี่ เตากุ่ย สมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน เปิดเผยว่า ข้อมูลสถิติต่างๆชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนตกต่ำถึงขีดสุดแล้ว แต่ราคาสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริหารระดับนโยบายต้องให้ความสนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

หลี่ กล่าวต่อไปว่า ผู้บริหารระดับนโยบายจำเป็นต้องหาทางทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้าง และการทำให้ราคามีเสถียรภาพนั้นเกิดความสมดุล โดยเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนแล้ว จะเห็นได้ว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาที่พุ่งสูงขึ้นนั้นมีมากกว่าความกังวลเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจ และนี่ถือเป็นสาเหตุหลักของการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยติดลบ หรือการที่ CPI สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเช่นกัน

ทางด้านหลิว หยูฮุย ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการเงินและการธนาคาร แห่งวิทยาลัยสังคมศาสตร์ของจีน กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้ มีความเกี่ยวข้องกับการคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบมาเป็นเวลานาน 7 เดือนแล้ว

หลิว กล่าวว่า จีนต้องรับมือกับราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งบริการในเขตเมืองอย่างค่าเช่าบ้านและบริการด้านอาหาร "เราเชื่อว่า ราคาที่สูงขึ้นนี้มีสาเหตุมาจากต้นทุนด้านแรงงานที่พุ่งขึ้น อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับเรื่องค่าเงิน และค่าครองชีพที่ดีดตัวขึ้นในหลายเมือง"

ราคากระเทียม ขิง และน้ำตาลในตลาดของจีนดีดตัวขึ้นสูงมาก โดยราคาน้ำตาลในเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 6,000 หยวน (900.90 ดอลลาร์) ต่อตัน ซึ่งสูงกว่าระดับ 2,700 หยวนต่อตันเมื่อปีที่แล้วมาก

ดัชนี CPI ของจีนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 22 เดือนที่ 3.5% ในเดือนส.ค. ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่เพียงแต่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปีที่ระดับ 2.25% และดอกเบี้ยเงินฝาก 2 ปีที่ 2.79% เท่านั้น แต่ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 ปีที่ 3.33% อีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณเตือน มากกว่าที่จะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยติดลบโดยตรง

"ความเคลื่อนไหวครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการควบคุมอัตราดอกเบี้ยติดลบและเงินเฟ้อ เพื่อที่ภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะได้สามารถปรับการลงทุนและการบริโภคของตนเองให้สอดคล้องกับตัวเลขดอกเบี้ย" หลิวกล่าว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางจีนเพิ่งประกาศว่าจะเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารรายใหญ่ 6 แห่งชั่วคราวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

จาง ฉีโจว รองผู้อำนวยการสถาบันสังคมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน กล่าวว่า จีนได้ขึ้นสัดส่วนเงินสำรองธนาคาร 4 ครั้งในปีนี้ ร่วมกับการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า จีนกำลังกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติหลังจากที่เกิดวิกฤตการเงินโลก

ด้วยเหตุนี้ จีนจึงกลายเป็นประเทศล่าสุดที่ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามหลังออสเตรเลีย นอร์เวย์ อินเดีย และบราซิล ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง ขณะที่มีอีกหลายประเทศที่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลง อาทิ รัสเซีย แอฟริกาใต้ และฮังการี

ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วบางส่วนยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอังกฤษ

โจว จือเฉียง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเซียงหยู กล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในวงที่จำกัด เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% เป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก แต่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นอาจจะดึงเม็ดเงินเก็งกำไรเข้ามาในประเทศมากขึ้น และดันราคาสินทรัพย์ของจีนให้สูงขึ้นได้

หยาง หงซู นักวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยและพัฒนา E-house China ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาจจะทำให้ต้นทุนของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มผู้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านสูงขึ้นได้ อีกทั้งยังจะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงในไตรมาส 4

นอกจากนี้ หยางได้คาดการณ์ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจนำไปสู่วงจรการขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ โดยวงจรการขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังสุดของจีนนั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2547 จากนั้นได้มีการขึ้นดอกเบี้ยถี่ขึ้นในปี 2550 รวมถึง 6 ครั้งในรอบปี แต่ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2550 เท่านั้น

หยางกล่าวต่อไปว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาจมีอิทธิพลต่อตลาดอสังหาฯ เพียงแค่ครั้งแรก เนื่องจากนโยบายการปล่อยสินเชื่อบ้านมีความเข้มงวดอยู่แล้ว

ทั้งนี้ จีนต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวที่ระดับประมาณ 10% และเงินเฟ้อให้อยู่ที่ประมาณ 3% ในปีนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ